วันที่ (26 เม.ย. 62) เวลา 11.00 น. ณ อาคาร 6 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นางธนาภรณ์ พรมสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มอบหมายให้ กองส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคคนพิการ (กสส.) โดยมี นายวินัย เก่งสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอาชีพคนพิการนนทบุรี เป็นผู้แทนเข้าร่วมในพิธีปิดการแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติ ครั้งที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24 – 26 เมษายน 2562 ที่จัดโดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้แสดงความสามารถและสนับสนุนให้คนพิการได้พัฒนาฝีมือให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสังคม สามารถก้าวเข้าสู่การมีงานทำอย่างยั่งยืน พร้อมยกระดับมาตรฐานฝีมือให้สูงขึ้นและพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากล โดยมีคนพิการเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 222 คน ใน 4 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ 1) กลุ่มสาขาอาชีพหัตถกรรม 2) กลุ่มสาขาอาชีพเทคโนโลยีการสื่อสาร 3) กลุ่มสาขาอาชีพอุตสาหกรรม และ 4) กลุ่มสาขาอาชีพบริการ จำนวน 20 สาขา เช่น 1) สาขาเย็บปักถักร้อย 2) สาขาประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ 3) สาขาระบายสีบนผ้าไหม 4) สาขาประดิษฐ์สิ่งของจากวัสดุเหลือใช้ 5) สาขาถ่ายภาพในสตูดิโอ เป็นต้น
โดย พก. ได้ร่วมส่งคนพิการจากหน่วยงานในสังกัดเข้าร่วมการแข่งขันในรายการดังกล่าว โดยจากผลการแข่งขันทั้ง 3 วัน สามารถทำผลงานได้ยอดเยี่ยม คว้า 1 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง และ 1 รางวัลชมเชย ได้แก่ นายวงกต แจ่มปรีชา จากศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการ จังหวัดขอนแก่น มีความพิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย แสดงความสามารถได้อย่างยอดเยี่ยม คว้าเหรียญทองในการแข่งขันสาขาถ่ายภาพในสตูดิโอ ขณะที่ นายปัจจานนท์ ไพลวัลย์ จากสถานคุ้มครองและพัฒนาคนพิการบ้านนนทภูมิ จังหวัดนนทบุรี ที่พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย (วีลแชร์) คว้าเหรียญเงิน สาขาระบายสีผ้าไหม นางสาวบังอร แสนแมน พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย (วีลแชร์) จากศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการจังหวัดขอนแก่น คว้าเหรียญทองแดง สาขา ออกแบบเว็บเพจ และนายอภิชา เผือดนอก จากากศูนย์พัฒนาศักยภาพและอาชีพคนพิการจังหวัดขอนแก่น พิการทางการเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย (เครื่องช่วยเดิน) คว้ารางวัลชมเชย สาขาออกแบบสิ่งพิมพ์
ทั้งนี้ พก. มีภารกิจหลักในการส่งเสริมและสนับสนุนให้คนพิการได้รับการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมทักษะด้านการประกอบ อาชีพ โดยการแข่งขันฝีมือคนพิการแห่งชาติในครั้งนี้ นับเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุน และกระตุ้นให้คนพิการได้รับการเรียนรู้ ฝึกฝนและพัฒนาทักษะฝีมือของตนให้ได้มาตรฐาน และยังเป็นการสร้างโอกาสให้คนพิการได้เข้าถึงการพัฒนาฝีมืออย่างเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นรูปธรรม โดยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นก้าวสำคัญซึ่งจะนำคนพิการสู่เวทีการแข่งขันในระดับนานาชาติ เพื่อให้มีโอกาสแสดงถึงศักยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ พร้อมสร้างแรงบันดาลใจ ให้แก่คนพิการรวมทั้งบุคคลทั่วไปให้มีพลังในการต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ เพื่อมุ่งสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ ได้อย่างยั่งยืน และเป็นพลังในการร่วมขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศชาติต่อไป