สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ คุมเข้มมาตรการตรวจ อนุญาตและควบคุมการดำเนินงานของสถานพยาบาลผู้ติดยาและสารเสพติดทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำไปสู่การให้บริการบำบัดรักษาที่ดี มีคุณภาพ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญของประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพของประชาชนเป็นอย่างมาก ในปี 2560 พบจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดทั้งประเทศจำนวน 197,128 ราย ในขณะที่สถานพยาบาลที่ให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดยังคงมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นการเพิ่มจำนวนสถานพยาบาลที่สามารถให้การบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเพื่อรองรับจำนวนผู้ติดยาและสารเสพติดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญซึ่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 เปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนสามารถเปิดสถานพยาบาลยาเสพติดได้ภายใต้หลักเกณฑ์และการกำกับดูแลของกระทรวงสาธารณสุข โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเปิดให้บริการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงต้องมีการควบคุมการดำเนินงานของสถานพยาบาลยาเสพติด เพื่อนำไปสู่การให้บริการบำบัดรักษาที่ดี มีคุณภาพ ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี เป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบด้านการพัฒนาศักยภาพและคุณภาพการบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาและสารเสพติดให้แก่สถานบำบัดทั่วประเทศ มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานสำหรับสถานพยาบาลที่ให้บริการบำบัดรักษาผู้ติดยาและสารเสพติด จัดให้มีระบบการติดตามนิเทศและประเมินผลการดำเนินงานตามข้อกำหนดและเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งให้การรับรองโดยคณะกรรมการจากสำนักพัฒนาและรับรองคุณภาพสถานพยาบาล โดยในปี 2560 มีโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขได้รับการรับรองคุณภาพมาตรฐานไปแล้วทั้งสิ้น 663 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 78.65 และมีสถานพยาบาลยาเสพติดได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ให้เป็นสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522ไปแล้วจำนวน 1,075 แห่ง แบ่งเป็นสถานพยาบาลของรัฐ 978 แห่ง สถานพยาบาลเอกชน 37 แห่ง และสถานฟื้นฟูสมรรถภาพรวมถึงการพัฒนาวัดเป็นศูนย์สงฆ์เคราะห์และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดเพื่อให้การฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดในชุมชนอีก 60 แห่ง ทั้งนี้สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนีมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานอย่างต่อเนื่องโดยได้มีการดำเนินงานร่วมกับโรงพยาบาลธัญญารักษ์ภูมิภาคทั้ง 6 แห่งเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศทั้งนี้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถรับบริการได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพมาตรฐานเดียวกันเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยยาและสารเสพติดเพื่อคืนคนดีสู่สังคม