“อนุทิน” ปล่อยคาราวาน อสม. จ.สระบุรี ปราบลูกน้ำยุงลาย ป้องกันโรคไข้เลือดออก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรม “คนสระบุรี ร่วมใจ เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย” ปล่อยคาราวาน อสม. 13 อำเภอ ร่วมกับเจ้าหน้าที่และภาคีเครือข่าย ออกรณรงค์สร้างความตระหนักให้กับประชาชนในการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ตามมาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค เพื่อลดป่วย ลดเสียชีวิต จากโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่ สนามกีฬาเทศบาลตำบลหนองแค จังหวัดสระบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรม “คนสระบุรี ร่วมใจ เก็บให้เกลี้ยง ไม่เลี้ยงยุงลาย” พร้อมมอบเกียรติบัตรแก่ อสม. และหน่วยงานระดับอำเภอ และปล่อยคาราวาน อสม. รณรงค์ให้คนในชุมชนสำรวจและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดยมีหน่วยงานภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน และอสม. เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 3,000 คน

นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายพัฒนาและยกระดับความรู้ อสม. ให้เป็น “อสม. หมอประจำบ้าน” ซึ่งปัจจุบันมีอสม. ทั้งประเทศกว่า 1,040,000 คน ร่วมดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน จนได้รับการยอมรับจากสังคมอย่างกว้างขวาง สำหรับโรคไข้เลือดออกซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขอันดับต้น ๆ ของประเทศ การรณรงค์ให้ประชาชนมีความรู้และร่วมมือในการสำรวจและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยควบคุมโรคไข้เลือดออกได้

จังหวัดสระบุรี ได้ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ จึงมีการปล่อยคาราวาน อสม. 13 อำเภอ เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย ร่วมกันรณรงค์ถ่ายทอดความรู้เรื่องไข้เลือดออกและกระตุ้นเตือนคนในชุมชนให้ช่วยกันสำรวจและจัดการสภาพแวดล้อมทั้งในบ้านและรอบบ้าน โรงเรียน วัด รวมถึงสวนสาธารณะ ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างจริงจัง ด้วยการกำจัดลูกน้ำอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยทุกๆ 7 วัน และป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด โดยใช้มาตรการ 3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค ได้แก่ เก็บบ้าน เก็บขยะ เก็บภาชนะใส่น้ำ ป้องกันโรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เพื่อลดการระบาดในพื้นที่และคนในชุมชนจะได้ไม่มีผู้ป่วยหรือเสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออก

ด้านนพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ในปี 2565 คาดว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกจะเพิ่มขึ้นทุกภาคทั่วประเทศ เนื่องจากมีฝนตกในหลายพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมขังตามภาชนะและวัสดุต่างๆ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลาย ซึ่งจากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 25 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วย 2,220 ราย เสียชีวิต 3 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยเรียน จึงขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในโรงเรียน รวมถึงให้ความรู้นักเรียนเรื่องการป้องกันโรคไข้เลือดออกอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง

สำหรับกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิต คือ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และผู้ที่มีน้ำหนักเกินเกณฑ์ จึงขอให้สังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัว หากมีไข้สูง 2-3 วัน รับประทานยาแล้วยังไม่ดีขึ้น ปวดเมื่อย ตาแดง หรือมีผื่นขึ้นใต้ผิวหนัง ตามแขนขาหรือข้อพับ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว ไม่ควรซื้อยาแอสไพรินและยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสดมารับประทานเองเพราะจะทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารจนเสียชีวิตได้

*************************************** 2 มิถุนายน 2565