สธ. ปลื้มเด็กและวัยรุ่นเข้าถึงบริการสุขภาพจิตได้มากขึ้น เร่งประชาสัมพันธ์สิทธิเด็กสามารถรับบริการจากกระทรวง สาธารณสุขได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายและได้รับความคุ้มครองข้อมูลที่เป็นส่วนตัว
วันที่ 2 มิถุนายน 2565 กรมสุขภาพจิต พัฒนาความร่วมมือในการดูแลจิตใจของเยาวชนไทยในทุกมิติ เผยเยาวชนมั่นใจในการให้บริการข้อมูลไม่รั่วไหลเข้าสู่การรับบริการทางสุขภาพจิตได้อย่างมั่นใจ พร้อมเตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่การเป็นคนไทยคุณภาพต่อไปในอนาคต
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึง ผลการตรวจเยี่ยมบริการด้านสุขภาพจิตในภูมิภาค ซึ่งพบว่ามีการขยายบริการสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นอย่างก้าวกระโดด สามารถเพิ่มการเข้าถึงบริการได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 30 ซึ่งเป็นผลดีต่อการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ความเครียด และปัญหาทางจิตใจอื่นที่พบเพิ่มขึ้นในเด็กและวัยรุ่น ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้การขยายบริการสุขภาพจิตนี้ เป็นผลจากที่การเพิ่มเติมบริการจากกระทรวงสาธารณสุข โดยในปี 2564 มีจิตแพทย์เด็กกระจายตัวอยู่ใน 55 จังหวัดทั่วประเทศ และจะเพิ่มเป็น 63 จังหวัดในปี 2568
นอกจากนี้ยังมีนโยบายชัดเจนในการสร้างความร่วมมือเป็นเครือข่ายกับหลายกระทรวงและหน่วยงานในการเฝ้าระวังปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น อาทิ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และที่สำคัญคือการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในการดำเนินระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่หรือ School Health HERO เพื่อให้การปรึกษาแก่บุคลากรทางการศึกษาในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาสุขภาพจิต
โดยปัจจุบันสามารถดูแลครอบคลุม 3,444 โรงเรียน ในร้อยละ 46.6 ของอำเภอทั้งหมดในประเทศไทย นักเรียนได้รับการเฝ้าระวัง 230,891 ราย กลุ่มเสี่ยงร้อยละ 69.34 ได้รับการดูแลช่วยเหลือจนดีขึ้น ในการนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) อยู่ในระหว่างการขยายผลใช้งานให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น และจะนำมาสู่การเข้าถึงบริการที่เพิ่มขึ้นต่อไป
แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบริการสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันกรมสุขภาพจิต ได้พัฒนาช่องทางเพื่อช่วยเหลือเยาวชนในทุกมิติ ในระยะหลังมีวัยรุ่นที่ต้องการรับการปรึกษาด้านจิตใจแต่ไม่ประสงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองหรือครูรับทราบ จากสถิติการให้บริการวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปี ของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ซึ่งเป็นหน่วยบริการเฉพาะทางด้านจิตเวชวัยรุ่น พบว่า ในปี 2565 มีเยาวชนขอเข้ารับบริการโดยไม่มีผู้ปกครองเพิ่มขึ้น 1.53 เท่า ในกลุ่มนี้มีความคิดอยากฆ่าตัวตายหรือทำร้ายตนเองเพิ่มขึ้นถึง 2.67 เท่า และได้รับการวินิจฉัยเป็นโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ 70
ซึ่งโดยสิทธิของเด็กนั้นสามารถเข้ารับบริการสุขภาพจิตแบบผู้ป่วยนอกโดยลำพังได้หากมีความสามารถในการตัดสินใจ เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 และพระราชบัญญัติสุขภาพจิตแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2562 กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการเร่งประชาสัมพันธ์ช่องทางการเข้าถึงบริการดังกล่าวนี้โดยสามารถโทรศัพท์เพื่อนัดหมายหรือใช้กลไกการส่งต่อกับหน่วยงานสุขภาพ ในจังหวัด รวมถึงโทร 1323 หรือ Line @ 1323 for Thai
******************* 2 มิถุนายน 2565