แพทย์แผนไทยชูเครื่องเทศสมุนไพร 3 เกลอ ปรุงเมนูอาหารดูแลสุขภาพนักเรียนกลุ่มเด็กเล็ก พร้อมเผยวิธีการทำทิงเจอร์ข่า เตรียมรับมือรักษาโรคน้ำกัดเท้า

แพทย์แผนไทยชูเครื่องเทศสมุนไพร 3 เกลอ ปรุงเมนูอาหารดูแลสุขภาพนักเรียนกลุ่มเด็กเล็ก พร้อมเผยวิธีการทำทิงเจอร์ข่า เตรียมรับมือรักษาโรคน้ำกัดเท้าที่มักจะเกิด ในช่วงฤดูฝน

กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ชูเครื่องเทศสมุนไพร 3 เกลอ (กระเทียม รากผักชี พริกไทย) ปรุงเป็นเมนูอาหาร มีสรรพคุณป้องกันและบรรเทาโรคที่มักจะเกิดในช่วงฤดูฝนโดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเด็กเล็ก พร้อมแนะนำ วิธีการทำทิงเจอร์ข่าไว้เตรียมรับมือโรคน้ำกัดเท้า ในช่วงฤดูฝน

นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยได้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้ว ซึ่งจะก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายในโดยเฉพาะนักเรียนกลุ่ม เด็กเล็ก ตามศาสตร์การแพทย์แผนไทยในช่วงฤดูฝนหรือวสันตฤดู ผู้คนมักจะเกิดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับธาตุลม เช่น เป็นไข้หวัด ไอ จาม วิงเวียนศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และท้องอืดท้องเฟ้อ ฯ สมุนไพรที่ใช้ดูแลสุขภาพในช่วงฤดูฝน จะเป็นกลุ่มสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน เช่น เครื่องเทศสมุนไพร 3 เกลอ (กระเทียม รากผักชี และพริกไทย)

ซึ่งสมุนไพรดังกล่าว จะมีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหย มีสรรพคุณช่วยขับลม บรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนดี บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และอาการหวัด โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเด็กเล็ก หากพ่อแม่ผู้ปกครองนำเครื่องเทศสมุนไพร 3 เกลอ มาปรุงเป็นเมนูอาหารให้ลูกๆก่อนไปโรงเรียน จะเป็นการเสริมเกราะป้องกันโรคที่มักจะเกิดในช่วงฤดูฝนให้แก่ลูกๆได้

สำหรับเมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ ข้าวต้ม ต้มเส้น แกงจืดวุ้นเส้นหมูสับ ตับผัดกระเทียม และอกไก่ทรงเครื่อง เป็นต้น นอกจากเครื่องเทศสมุนไพร 3 เกลอแล้ว ก็มีสมุนไพรรสเผ็ดร้อนอื่นๆ เช่น หอมแดง ขิง ข่า ตะไคร้ กะเพรา กระชาย แมงลัก ใบมะกรูด ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองก็สามารถนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารต่างๆ ได้เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้แล้ว ปัญหาที่ตามมาในช่วงฤดูฝน ประชาชนมักจะประสบกับปัญหาโรคน้ำกัดเท้า ถ้าหากดูแล ความสะอาดนิ้วเท้าและง่ามเท้าไม่ดีอาจก่อให้เกิดโรคน้ำกัดเท้าได้ จึงขอแนะนำสมุนไพร “เหง้าข่า”สรรพคุณช่วยรักษาอาการโรค น้ำกัดเท้า สำหรับขั้นตอนวิธีการทำยาสมุนไพรรักษาโรคน้ำกัดเท้าในรูปแบบทิงเจอร์เหง้าข่าไว้ใช้เอง ในครัวเรือน คือ

1.นำเหง้า ข่าแก่มาล้างน้ำให้สะอาด ทุบพอแหลก ใส่ลงในโหลแก้ว

2.เติมแอลกอฮอล์ล้างแผลพอท่วม

3.ปิดฝาให้สนิท หมักไว้ 7 วัน หมั่นคน เช้า-เย็น

4.เมื่อครบกำหนด กรองเอาแต่น้ำ บรรจุลงในภาชนะ วิธีใช้ ใช้ทาบริเวณที่เป็นโรคน้ำกัดเท้า วันละ 2 ครั้ง เช้า – เย็น เมื่อหายดีแล้วให้ทาต่อเนื่องไปอีก 2 สัปดาห์ เพื่อให้โรคดังกล่าวหายขาด

นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากการดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรที่กล่าวมาแล้ว ก็ควรหลีกเลี่ยง การตากฝน ถ้าหากมีเหตุจำเป็นที่ต้องตากฝนหรือลุยน้ำขัง ให้สวมรองเท้าบูท หลังจากตากฝนแล้ว ก็ควรอาบน้ำชำระร่างกาย เช็ดตัวให้แห้ง ดูแลความสะอาดของนิ้วเท้าและง่ามเท้าอยู่เสมอ ไม่ควรใส่เสื้อผ้าหรือถุงเท้าที่เปียกชื้น และควรรักษาความอบอุ่นของร่างกายให้เป็นปกติอยู่เสมอ

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่เฟซบุ๊กและไลน์แอดกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

สำหรับวันที่ 6 – 10 กรกฎาคม 2565 นี้ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับภาคีเครือข่าย จะมีการจัดงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 19 ณ ฮอลล์ 11 – 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

…………………………… 2 มิถุนายน 2565 ……………