กรมควบคุมโรค ย้ำโรคพิษสุนัขบ้าสามารถเกิดได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด ในไทยพบมากในสุนัข แมวและโค แนะประชาชนหากพบสัตว์เลี้ยงป่วยตายผิดปกติ โดยเฉพาะที่สงสัยถูกสุนัขกัดหรือล้มป่วยตายกะทันหัน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง ไม่ชำแหละและนำไปรับประทานเนื้อสัตว์ที่ป่วยตาย ให้เลือกซื้อเนื้อสัตว์ทั่วไปจากแหล่งหรือร้านค้าที่ได้มาตรฐาน พร้อมปรุงให้สุกด้วยความร้อนทั่วทั้งชิ้น ลดความเสี่ยงการติดเชื้อโรคได้
วันที่ 8 พฤษภาคม 2561 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากที่มีการรายงานข่าวเรื่องพบสุกรถูกสุนัขกัดและเป็นโรคพิษสุนัขบ้าตายนั้น กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า โรคพิษสุนัขบ้าสามารถพบได้ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เช่น สุนัข แมว ค้างคาว โค กระบือ สุกร แต่ในประเทศไทยพบมากในสุนัข แมว และโค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมควบคุมโรคและสำนักงานป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ได้ทำการป้องกันควบคุมโรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่าหากพบสัตว์เลี้ยงตายหรือป่วยตายผิดปกติ โดยเฉพาะการตายที่เกิดจากสุนัขกัดหรือสัตว์ล้มป่วยตายกระทันหัน ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรง หากจำเป็นต้องมีการสัมผัสหรือเคลื่อนย้าย ขอให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงมือยางก่อนการสัมผัส เพื่อลดความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย รวมถึงอย่านำสัตว์ดังกล่าวมาชำแหละ ปรุงเป็นอาหารรับประทาน โดยเฉพาะการปรุงอาหารแบบดิบ หรือสุกๆดิบๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่อาจติดโรคได้และไม่ขายหรือนำไปให้สัตว์อื่นกินเด็ดขาด ขอให้รีบแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทันที
ปัจจุบัน โรคติดต่อที่ทำให้สัตว์ป่วยตายและยังสามารถติดต่อสู่คนได้มีหลายโรค เช่น โรคแอนแทรกซ์ โรคบรูเซลโลสิส โรคไข้หวัดนก หรือโรคไข้หูดับที่เกิดจากการรับประทานหมูที่ติดโรคแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ กรมควบคุมโรค ได้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง และขอให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้จะทำให้สุกก็ยังคงมีความเสี่ยงต่อการติดโรคเช่นกัน
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลือกเนื้อสัตว์จะต้องเลือกซื้อจากแหล่งที่ได้รับมาตรฐาน เช่น ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าที่ได้รับป้ายจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจะสามารถติดตามกลับถึงแหล่งเลี้ยงและชำแหละสัตว์ได้ หรือดูจากป้าย “ปศุสัตว์ OK” ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนประกอบอาหารประเภทเนื้อสัตว์ด้วยความร้อนจนสุกก่อนรับประทาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค หรือแบคทีเรียต่างๆ หากประชาชนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422