Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา จังหวัดชัยนาทเจ้าภาพ จุดที่ 6 ดึงผู้ประกอบการผ้าทอ 24 จังหวัดภาคกลาง – ภาคตะวันออก ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนต่อยอดสร้างมูลค่าให้ผ้าพื้นถิ่น

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน สนองแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา จัดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) พร้อมจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าและผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ จากกลุ่มทอผ้ามากกว่า 60 กลุ่ม

วันพุธที่ 1 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมสุวรรณาริเวอร์ไซด์ชัยนาท จังหวัดชัยนาท นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อม ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) กิจกรรมที่ 1 จัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้า และอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา)

โดยมี นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดทำโครงการฯ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ศศิธร จันทมฤก ประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน นายรังสรรค์ ตันเจริญ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท นายนที มนตริวัต นางสาวชไมพร อำไพจิตร รองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยนาท คุณธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ดร.ศรินดา จามรมาน กรรมการที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก หัวหน้าส่วนราชการ ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและช่างทอผ้าจากจังหวัดชัยนาท นครนายก นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ชลบุรี ปราจีนบุรี ระยอง ตราด เพชรบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม 65 กลุ่ม ร่วมกิจกรรม

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นับเป็นความโชคดีอีกครั้งหนึ่งของช่างทอผ้าและคนไทยทุกคน อันเป็นพระกรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ที่ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา หรือ “พระองค์หญิง” ของพี่น้องช่างทอผ้า ทรงมีพระราชปณิธานอันแน่วแน่และมุ่งมั่นในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ในการสืบสาน รักษา และต่อยอด พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งพระองค์ได้ทรงซึมซับตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ในการโดยเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงในทุกปิดภาคเรียนขณะทรงศึกษาที่โรงเรียนจิตรลดา ทั้งพื้นที่กลางป่า กลางเขาในหลายจังหวัด เช่น สกลนคร นครพนม นราธิวาส อุบลราชธานี ยะลา กระทั่งทรงมีความแน่วแน่ที่จะศึกษาในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศึกษาต่อด้านแฟชั่นดีไซน์ในต่างประเทศ แล้วทรงทดลองฝึกฝน ศึกษา ค้นคว้า วิจัย ด้วยพระองค์เอง กระทั่งเกิด “แสงประทีป” สร้างความอบอุ่น ทำให้ชีวิตงานหัตถศิลป์ หัตถกรรม งานศิลปาชีพผ้าไทย สว่างโชติช่วงชัชวาล

โดยเป็นที่ประจักษ์อย่างยิ่ง คือ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 พระองค์เสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี และพระราชทานลายผ้า “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” โดยพระองค์ประทับนั่งบนกี่ทอผ้า และพระราชทานลายผ้าให้กับอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนคนที่ 29 แวดล้อมไปด้วยพี่น้องผู้ประกอบการ OTOP อันเปรียบประดุจแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ที่ทำให้ตั้งแต่หลังวันที่ 21 ธันวาคม 2563 เกิดเสียงดังที่ใต้ถุนบ้านทุกหลังในทุกหมู่บ้าน/ชุมชน นั่นคือเสียงกี่ที่กระทบกันเพื่อทอผ้าลายพระราชทานกันตลอดทั้งวันทั้งคืน และทรงโปรดให้กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย จดลิขสิทธิ์ พร้อมทั้งพระราชทานพระราชานุญาตให้กลุ่มช่างทอผ้าทุกกลุ่มสามารถนำไปใช้ได้ทุกเทคนิค ประยุกต์ดัดแปลงเข้ากับอัตลักษณ์ของชุมชนได้ จนกระทั่งถึงทุกวันนี้พบว่าในหลายหมู่บ้าน ยังทอไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ซื้อ ทำให้ผู้ประกอบการทอผ้าได้รอดตายจากภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 นำมาซึ่งความปลาบปลื้มปีติยินดีอย่างหาที่สุดมิได้ของพวกเราทุกคน

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำริในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะการทอผ้าอย่างครบวงจรในหลายประการ ได้แก่

1) ต้องทะลายกำแพงค่านิยมที่ว่า ผ้าไทยเป็นของโบราณ คร่ำครึ คนมีอายุเท่านั้นจึงจะสวมใส่ได้ ด้วยการพระราชทาน “โครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก”

2) คิดวางแผนตั้งแต่ต้นว่าเราจะผลิตลวดลายแบบไหน สีสันแบบไหนให้มีความทันสมัย ด้วยการนำลายดั้งเดิม (Original) มาพัฒนาต่อยอด โดยทรงพยากรณ์คาดเดารสนิยมความนิยมชมชอบในวงการแฟชั่นของลูกค้าในอนาคต นำมาสู่หนังสือ THAI TEXTILES TREND BOOK ที่ทรงเป็นบรรณาธิการด้วยพระองค์เอง

3) ต้องมีเรื่องราวที่บอกความหมาย (Story Telling )

4) บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม (Packaging)

5) วัตถุดิบที่ใช้ต้องเป็นธรรมชาติ และต้องหาพื้นที่ปลูกต้นไม้ที่ให้สีธรรมชาติ เพื่อทดแทนต้นไม้ให้สีที่ได้ใช้ไป

6) ต้องพึ่งพาตนเอง ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ปลูกฝ้ายได้

7) ต้องถูกใจคนทุกเพศ ทุกวัย

8) ให้ความสำคัญกับเรื่องการตลาด ด้วยการทำการตลาดสมัยใหม่

โดยพระองค์จะทรงเน้นย้ำในทุกครั้งที่เสด็จพระราชดำเนินทรงงานกับพี่น้องประชาชน ด้วยการสอนให้ทำ สอนให้แก้ สอนให้ปรับปรุง นำพื้นฐานแบบลายเก่ามาประดิษฐ์ลายใหม่ โดยทรงทำเป็นตัวอย่าง คือ การพระราชทาน “ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี” และต่อมาพระราชทาน “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” พร้อมทั้งทรงสอนให้ใช้สีธรรมชาติในการย้อมผ้า เพราะสีธรรมชาติช่วยทำให้โลกมีอายุยืนยาว สิ่งแวดล้อมดี คนที่ต้องย้อมผ้าปลอดภัย คนสวมใส่ปลอดภัย และยังช่วยเรื่องการลดภาวะโลกร้อน ลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยของเสีย เคมี สู่ดิน น้ำ

และที่สำคัญที่สุด เป็นการยืนยันว่าทรงคำนึงถึงแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในหลักการ “พึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ทุกสิ่งทุกอย่างมาจากน้ำพระราชหฤทัยที่รักและเป็นห่วงพวกเรา ไม่ว่าจะประทับอยู่ที่ไหน ทุกลมหายใจของพระองค์จะคิดถึงพวกเราทุกคน ด้วยการทรงเชื้อเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า ด้านการออกแบบ Fashion สมัยใหม่ เช่น โจ ธนันท์รัฐ โรจน์ อิชชู่ เป็นต้น มาเป็นจิตอาสาในการให้คำแนะนำ คำปรึกษา ด้านการออกแบบลวดลาย การร้อยเรียงเรื่องราว (Story) อันเป็นการนำภูมิปัญญามาทำให้เกิดผลงานอันทรงคุณค่า เป็นที่ต้องการของตลาดได้มากขึ้น เพราะผ้าไทยไม่ได้เป็นเพียงความมั่นคงของชาติ แต่เป็นความมั่นคงของคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ รายได้ ของพี่น้องประชาชน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเน้นย้ำ

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงหาวิธีการพัฒนาทักษะฝีมือการทำงานทอผ้าที่เป็นเลิศ เพื่อส่งผลให้พวกเรามีทักษะ มีพัฒนาการในการผลิตชิ้นงานมีคุณภาพดีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีเส้นชัยไว้ให้พวกเราได้แข่งขัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยได้พระราชทานเหรียญรางวัลที่มีลักษณะอันงดงามและสูงค่ายิ่ง คือ มีพระพักตร์ที่สวยงาม เปี่ยมไปด้วยความเมตตา และมีดอกแคทลียาควีนสิริกิติ์ที่พระเกศา อันเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องยืนยันว่าพระองค์ทรงมีพระกตเวทิตาคุณอย่างสูงยิ่งต่อสมเด็จพระบรมราชนนีพันปีหลวง

และพระราชทานพระนามย่อ ส.ร. (สิริวัณณวรี) ภายใต้พระจุลมงกุฎย่ออยู่ด้านหลังเหรียญ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้พวกเราได้เร่งรัด ได้ใช้เวลาทุกนาทีให้เกิดประโยชน์ นำเอาผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญาไปผลิตเป็นชิ้นงาน และส่งเข้าประกวด เพื่อนำเหรียญรางวัลกลับมาเป็นเกียรติเป็นศรีกับวงศ์ตระกูลและกลุ่มของพวกเราให้จงได้ ซึ่งทุกคน คือ ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ ในช่วยสืบสานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถศิลป์หัตถกรรม อันเป็นมรดกล้ำค่าของบรรพบุรุษไทยให้คงอยู่ และการพัฒนาฝีไม้ลายมือของพวกเราทุกคนในครั้งนี้ เป็นเครื่องหมายอันแสดงให้เห็นถึงการร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ

นายสมคิด จันทมฤก อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) จัดทำขึ้นเพื่อสนองแนวพระดำริ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสานพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาการทอผ้า พร้อมทั้งเผยแพร่พระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ด้านการออกแบบเครื่องแต่งกายและสิ่งทอต่อยอดการพัฒนาลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก”

ตลอดจนเพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” แก่ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย และเพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย สามารถนำลายผ้าพระราชทาน “ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา” ไปเป็นต้นแบบและพัฒนาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าตามอัตลักษณ์พื้นถิ่น รวมทั้งสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน กิจกรรมประกอบด้วย

การจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ้าและผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ จากกลุ่มทอผ้ากว่า 60 กลุ่ม/ราย พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการขาย “Live สด” ผ่านเพจ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และการอบรม เชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ OTOP ผ้าไทย (Coaching ผ้าขิดลายนารีรัตนราชกัญญา) ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวการทอผ้าไทย จากผู้เชี่ยวชาญด้านผ้าไทยหลากหลายสาขา ที่มาร่วมบูรณาการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคนิควิธีการเฉพาะต่างๆ อาทิ การย้อมผ้าด้วยสีธรรมชาติ การคัดสรรเส้นใย ที่เหมาะสมในการทอผ้า เทคนิคการทอผ้า การทอผ้าลายขิดนารีรัตนราชกัญญา เทรนด์สีแฟชั่นระดับสากล จากเทรนด์บุ๊คฯ การพัฒนาผืนผ้าเป็นผลิตภัณฑ์เสื้อผ้าแฟชั่นร่วมสมัย การสร้างแบรนด์เบื้องต้น การออกแบบบรรจุภัณฑ์ผ้าการสื่อสารตลาดและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้วยตัวเอง

พร้อมทั้งการเตรียมความพร้อมสำหรับการประกวดผ้าลายพระราชทาน “ลายขิดนารีรัตนราชกัญญา” ซึ่งจังหวัดชัยนาทดำเนินการเป็นจุดที่ 6 โดยจุดต่อไป คือ วันที่ 11 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมมณฑาทิพย์ ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี และวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรมสุโขทัย เทรเชอร์ รีสอร์ต แอนด์ สปา จังหวัดสุโขทัย

กรมการพัฒนาชุมชน จึงขอเชิญชวนท่านใดที่อยู่ใกล้เคียงกับสถานที่ดำเนินการในจุดดำเนินการต่างๆ เลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไทยและผลิตภัณฑ์ผ้าสร้างสรรค์ หรือสามารถรับชมและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าไทยผ่านช่องทางออนไลน์ได้ (การ Live สด ผ่าน Facebook เพจ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานพระราชปณิธาน อนุรักษ์มรดกภูมิปัญญาการทอผ้า ส่งเสริม สนับสนุนการสร้างอาชีพ กระจายรายได้สู่ชุมชน ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ให้ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน