องค์การเภสัชกรรมจัดกิจกรรม GPO สานสัมพันธ์ผู้นำชุมชนมนำคณะผู้นำชุมชนในพื้นที่ตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี เยี่ยมชมโครงการสารสกัดกัญชาทางการแพทย์
วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เวลา 09.00 น. ณ พื้นที่องค์การเภสัชกรรม ต.หนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ จ.ชลบุรี ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฎกกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ องค์การเภสัชกรรม เป็นประธานเปิดกิจกรรม GPO สานสัมพันธ์ผู้นำชุมชนตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรี โดยมีการพบปะประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รอบข้างและนำคณะผู้นำชุมชนในพื้นที่ เข้าเยี่ยมชมโครงการสารสกัดกัญชาทางการแพทย์ขององค์การฯ พร้อมนำเสนอโครงการ”GPO Phytotech Valley” พัฒนาพื้นที่โดยรอบตำบลหนองใหญ่ อำเภอหนองใหญ่ จังหวัดชลบุรีให้เป็นเมืองสมุนไพร “GPO Phytotech Valley”
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมได้ใช้พื้นที่ ต.หนองใหญ่ อ.หนองใหญ่ พัฒนาการเพาะปลูกกัญชาเกรดทางการแพทย์ในโรงเรือน (Greenhouse) และปลูกพืชสมุนไพร รวมถึงจัดสรรพื้นที่เข้าร่วมสนองพระราชดำริฯ โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) โดยปลูกต้นมเหสักข์ สักสยามินทร์ และเถาวัลย์เปรียง ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างองค์การเภสัชกรรมและชุมชนรอบข้าง ตลอดจนรายงานความก้าวหน้าการพัฒนาพื้นที่องค์การฯในแต่ละพื้นที่ สื่อสารทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินกิจการขององค์การฯ ในภาพรวม และสร้างความมั่นใจในระบบความปลอดภัยในชุมชน การส่งเสริมและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่
ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ กล่าวต่อไปว่า องค์การฯยังได้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ “GPO Phytotech Valley” ให้เป็นเมืองสมุนไพร “GPO Phytotech Valley” โดยจัดแบ่งพื้นที่เป็น 4 โซนหลัก ได้แก่ โซนแรก Medicine Production and Cannabis Plantation พื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมการปลูก การคัดแยก แปรรูป สกัด ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากกัญชาและกัญชง และสมุนไพรอื่นๆ นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ในการบริหารจัดการโครงการ โดยคำนึงถึงระบบนิเวศน์ภายในโครงการที่ต้องสามารถอยู่รอด พึ่งตนเองได้ และสร้างดุลยภาพให้กับสิ่งแวดล้อม โซนที่สอง Plantation Area พื้นที่ทำประโยชน์ทางเกษตรกรรมครบวงจรโดยแบ่งสัดส่วนและพื้นที่ให้กับภาคเอกชนและนักลงทุนเข้ามาทำการเกษตรพืชสมุนไพรสำหรับส่งเข้ามาในกระบวนการผลิตของ GPO โดยเตรียมความพร้อมด้านพื้นที่และองค์ประกอบในการทำเกษตรกรรม
โซนที่สาม Knowledge Center โซนด้านความเป็นเลิศด้านการวิจัยและนวัตกรรมพืชสมุนไพร (Phyto-technology & Innovation) ซึ่งอาจต่อยอดโครงการเป็นสถาบันการศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ และพิพิธภัณฑ์สมุนไพรไทย (Education & Thai Herbal Museum) ในอนาคต และโซนที่สี่ Herb Village โซนส่งเสริมการใช้สมุนไพรและการจัดจำหน่ายในหมู่บ้านสมุนไพร (Leisure & Residential) เพื่อตอบสนองการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
นอกจากนั้น องค์การฯยังได้มีแผนยกระดับโครงการ “GPO Phytotech Valley” เข้าสู่ EEC โดยมุ่งเน้นด้านการพัฒนาพันธุ์พืชสมุนไพร และไฟโตเทคโนโลยี ต่อไปในอนาคตด้วย