WHO มอบรางวัล World No Tobacco Day 2022 Awards ให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จากความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายชายหาดปลอดบุหรี่เป็นต้นแบบให้ทั่วโลก
ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย เป็นตัวแทน WHO มอบรางวัล World No Tobacco Day 2022 Awards ให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ในฐานะริเริ่มและประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายชายหาดปลอดบุหรี่ 24 หาดทั่วประเทศ โดยบูรณการร่วมกับท้องถิ่น และภาคเอกชน จนเป็นต้นแบบให้กับชายหาดหลายแห่งทั่วโลก ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ภายใต้คำขวัญประจำปี 2565 “Tobacco: Threat to our environment : บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” มุ่งหวังในการปกป้องสุขภาพประชาชนและสิ่งแวดล้อมไม่ให้ได้รับผลกระทบจากวัฏจักรยาสูบ
วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ที่ โรงแรมบางแสนเฮอริเทจ จังหวัดชลบุรี ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2565 โดยมี นพ. จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นพ.ขจรศักดิ์แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายณรงค์ชัย คุณปลื้ม นายกเทศมนตรีเมืองแสนสุข ให้เกียรติร่วมงาน
โดย ดร.สาธิต ได้แถลงนโยบายการขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน ภายใต้ประเด็น “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” ว่า องค์การอนามัยโลก กำหนดให้วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยปี 2565 กำหนดประเด็นรณรงค์ คือ “Tobacco: Threat to our environment หรือบุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม” เนื่องจากตลอดวัฏจักรยาสูบ ตั้งแต่การทำไร่ การบ่ม กระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาสูบ วัสดุหีบห่อ จนถึงการสูบ ซึ่งทำให้เกิดก้นบุหรี่ และอุปกรณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งขยะจากยาสูบเหล่านี้ไม่ย่อยสลายและมีสารพิษปนเปื้อนเช่น ท็อกซิน นิโคติน สารหนู ยาฆ่าแมลง สารก่อมะเร็ง ทำให้น้ำทะเลและแหล่งน้ำปนเปื้อนสารพิษ ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมในทุกรูปแบบ
นอกจากนี้การบริโภคบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดภัยต่อสุขภาพ เช่น โรคมะเร็ง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจอักเสบ โดยมีการประมาณการความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูบบุหรี่ มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี หรือเทียบเท่ากับร้อยละ 2.1 ของ GPD ดังนั้น การที่ตัดสินใจไม่สูบหรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบทุกรูปแบบ นอกจากจะช่วยการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สามารถป้องกันได้แล้ว ยังช่วยลดการเกิดขยะพิษและมลพิษที่ทำลายสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย กระทรวงสาธารณสุขจึงร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมและปกป้องประชาชนจากผลกระทบของผลิตภัณฑ์ยาสูบทั้งด้านสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ด้วยการสร้างชุมชนปลอดควันบุหรี่ ส่งเสริมให้ปลูกพืชทดแทน หยุดวัฏจักรการผลิตยาสูบ เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดีจากการไม่สูบบุหรี่ รวมถึงส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจนเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบได้
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการควบคุมการสูบ รวมถึงการส่งเสริมให้เลิกใช้ผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2565 ได้มีมติขับเคลื่อนใน 6 นโยบายสำคัญ ได้แก่
1.การเผยแพร่ข้อมูลและสื่อสารสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากบุหรี่ ตั้งแต่การปลูกยาสูบ การผลิต การขนส่ง จัดจำหน่ายยาสูบ และขยะก้นบุหรี่ รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมยาสูบว่าเป็นบริษัทและผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green wash)
2.ผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมประชาสัมพันธ์ เฝ้าระวัง กำกับดูแล พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้/ต้นแบบตามความเหมาะสมของบริบทพื้นที่
3.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชน ภาคการท่องเที่ยวและบริการ ตระหนักถึงผลกระทบของยาสูบต่อสิ่งแวดล้อม เคารพและปฏิบัติตามข้อบังคับของสถานที่ (Smoke-free Tourism) เพื่อรองรับแผนการกระตุ้นเศรษฐกิจ และนโยบายการท่องเที่ยวแบบวิถีใหม่ (New Normal tourism)
4.พัฒนา ปรับปรุงกฎหมาย ยกระดับนโยบาย มาตรการ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ และขยายผลไปยังพื้นที่อื่น เพื่อให้ผู้ผลิตรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและต้นทุนทางเศรษฐกิจที่เกิดจากของเสียจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงกิจกรรมของอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
5.สนับสนุนให้เกษตรกรผู้ปลูกยาสูบเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นที่ปลอดสารเคมี/เกษตรอินทรีย์ หรือเกษตร รูปแบบอื่นแทน เพื่อป้องกันการได้รับสารเคมีจากการเพาะปลูกยาสูบ และส่งเสริมให้เกษตรกรใช้การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
6.สนับสนุน ให้คำปรึกษา และเชื่อมประสานความร่วมมือให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
ด้าน นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประเด็นรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 คือ บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม เพื่อเน้นย้ำถึงพิษภัยและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบและการสูบบุหรี่ ซึ่งเป็นการสร้างภาระเพิ่มต่อโลกของเราซึ่งมีทรัพยากรจำกัดและมีระบบนิเวศน์ที่เปราะบาง
“องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยขอแสดงความยินดีแก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ กับความสำเร็จที่น่ายกย่อง และความเป็นผู้นำในการยกระดับการควบคุมการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบของไทย และช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ ประเทศไทยนั้นจัดเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งเป็นผู้นำ และมีผลงานซึ่งที่เป็นที่ประจักษ์ในระดับโลกด้านนโยบาย และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในควบคุมการบริโภคยาสูบ” นพ.จอส ฟอนเดลาร์ กล่าว
ในโอกาสนี้ นพ. จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้เป็นตัวแทนผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก มอบรางวัล World No Tobacco Day 2022 Awards ให้กับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งประสบความสำเร็จในการขับเคลื่อนนโยบายชายหาดปลอดบุหรี่ 24 ชายหาดทั่วประเทศ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2561 โดยการขับเคลื่อนและผลักดันการสร้างสิ่งแวดล้อม สถานที่ท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติให้ปลอดบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน มีการออกกฎหมายเพื่อให้ชายหาดของประเทศไทยปลอดบุหรี่ ควบคู่กับการกำกับดูแล และป้องปรามไม่ให้มีขยะก้นบุหรี่ เพื่อป้องกันการเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์และสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์และสัตว์ในการดำรงชีพ
และเป็นตัวแทนผู้อำนวยการสำนักงานอนามัยโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มอบรางวัล Regional Director’s Appreciation Award ให้กับ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ที่มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริมและผลักดันนโยบายการควบคุมยาสูบในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 ของประเทศไทย
********************************************* 31 พฤษภาคม 2565