กระทรวงสาธารณสุข เผยนิยามผู้ป่วยสงสัย ผู้ป่วยเข้าข่าย และผู้ป่วยยืนยัน “ฝีดาษวานร” ระบุยังเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง จะกักตัวเมื่อเข้าเกณฑ์ป่วย ขณะที่ผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร เป็นชาวต่างชาติ 5 ราย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเป็นเชื้อเริม ติดจากการคลุกคลีในค่ายมวยและใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ส่วนผู้สัมผัส 12 ราย ของผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ต่อเครื่องไปออสเตรเลีย ไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงและยังไม่มีอาการ จะติดตามต่อเนื่องจนครบ 21 วัน
วันที่ 30 พฤษภาคม 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โรคฝีดาษวานร (Monkeypox) ว่า ข้อมูลทั่วโลกถึงวันที่29 พฤษภาคม 2565 มีผู้ป่วยยืนยัน 406 ราย และผู้ป่วยสงสัย 88 ราย รวม 494 รายใน 32 ประเทศ ประเทศที่พบการแพร่ระบาดมากนอกแอฟริกา คือ แคนาดา อังกฤษ เยอรมนี สเปน และโปรตุเกส ส่วนประเทศไทยยังไม่มีรายงาน ทั้งนี้ โรคฝีดาษวานรจัดเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง จึงไม่มีการกักตัวจนกว่าจะเข้าเกณฑ์เป็นผู้ป่วย ได้ทำการเฝ้าระวังทั้งที่สนามบินในผู้เดินทางเข้าประเทศ สถานพยาบาล และคลินิกเฉพาะทางโรคผิวหนังหรือโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
สำหรับนิยามผู้ป่วยสงสัยฝีดาษวานร คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไข้ 38 องศาเซลเซียส ร่วมกับอาการป่วยอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หรือต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีอาการผื่น ตุ่มนูน ซึ่งส่วนใหญ่ขึ้นบริเวณใบหน้า ลำตัว และแขนขา โดยเป็นผื่นก่อน ตามด้วยตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง และตุ่มตกสะเก็ด โดยต้องมี 1 ใน 2 อาการนี้ ร่วมกับประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยาภายใน 21 วัน คือ
1.ประวัติเดินทางจากประเทศที่มีรายงานการระบาดโรคฝีดาษวานรภายในประเทศ ซึ่งนอกเหนือจากแอฟริกา ยังมีแคนาดา อังกฤษ โปรตุเกส และสเปน
2.ประวัติร่วมกิจกรรมในงานที่พบผู้ป่วยฝีดาษวานร หรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสใกล้ชิด ผู้เดินทางมาจากต่างประเทศประจำ
3.ประวัติใกล้ชิดสัมผัสสัตว์ป่าประเภทสัตว์ฟันแทะ ลิง สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่นำเข้าจากแอฟริกา
ส่วนนิยามผู้ป่วยเข้าข่ายโรคฝีดาษวานร คือ ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิด โดยสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังผู้ป่วย หรือสัมผัสสิ่งของเสื้อผ้าที่อาจปนเปื้อนของผู้ป่วย, เป็นผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันกับผู้ป่วย หรือใช้ห้องน้ำหรืออุปกรณ์ในห้องน้ำร่วมกับผู้ป่วย หรือผู้สัมผัสที่อยู่ภายในห้องหรืออยู่ใกล้ผู้ป่วยฝีดาษวานร ในระยะ 2 เมตร ตั้งแต่ 5 นาทีขึ้นไป
ทั้งนี้ เมื่อได้รับรายงานว่ามีผู้ป่วยสงสัยหรือผู้ป่วยเข้าข่ายมารักษาในสถานพยาบาล จะตรวจคัดกรองและเก็บตัวอย่างจากแผลหรือลำคอ เพื่อตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และพิจารณาแยกกัก เพื่อรอเวลาการตรวจหาเชื้อ หากไม่พบเชื้อฝีดาษวานรหรือเป็นโรคอื่นจะจบการแยกกัก แต่หากพบเชื้อหรือเป็น “ผู้ป่วยยืนยัน” จะได้รับการรักษาและแยกกักจนครบ 21 วัน นับจากวันที่เริ่มป่วย
นพ.จักรรัฐกล่าวว่า กรณีประเทศออสเตรเลียแจ้งว่าพบผู้ป่วยฝีดาษวานร 1 ราย มีประวัติบินมาจากประเทศทางยุโรป และมาแวะต่อเครื่อง (Transit) ที่ประเทศไทย 2 ชั่วโมง จากการสอบสวนโรคพบว่า ขณะที่ผู้ป่วยรายนี้อยู่ในประเทศไทยไม่มีอาการ และไม่ได้สัมผัสใกล้ชิดใคร มีการสวมหน้ากากอนามัยตลอด โดยเริ่มมีอาการที่ประเทศออสเตรเลีย ดังนั้น ผู้สัมผัสใกล้ชิดทั้งหมด 12 คน ซึ่งเป็นผู้โดยสารและลูกเรือ จึงไม่ใช่ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากการติดตาม 7 วันยังไม่พบอาการป่วย โดยจะติดตามจนครบ 21 วัน
ส่วนกรณีนักท่องเที่ยวจากไอร์แลนด์ 3 ราย ที่สงสัยป่วยฝีดาษวานร แต่ผลตรวจออกมาเป็นเริมนั้น จากการสอบสวนโรคพบว่าเป็นพี่น้องกัน เดินทางเข้ามาเรียนมวยไทยโดยบินตรง จ.ภูเก็ต แต่เดินทางเข้ามาคนละวัน รายแรก เพศชาย อายุ 30 ปี อาชีพแพทย์ เดินทางมาวันที่ 4 พฤษภาคม เริ่มมีผื่นที่แขนซ้ายวันที่ 21 พฤษภาคม อีก 2 วันถัดมาเริ่มมีไข้ 38.9 องศาเซลเซียส รับยาที่คลินิกเอกชน จ.ภูเก็ต รายที่ 2 เพศชาย อายุ 27 ปี อาชีพนักแสดง เดินทางมาวันที่ 5 พฤษภาคม เริ่มมีผื่นที่หลังด้านขวาและคอ วันที่ 21 พฤษภาคม รับประทานยาและอาการไม่ดีขึ้น และรายที่ 3 เพศชาย อายุ 20 ปี เป็นนักศึกษา เดินทางมาวันที่ 13 พฤษภาคม เริ่มมีผื่นที่รักแร้ซ้าย วันที่ 22 พฤษภาคม รับประทานยา อาการไม่ดีขึ้น
นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า ผู้ป่วยทั้ง 3 ราย ไม่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยฝีดาษวานรที่ไอร์แลนด์ แต่เมื่ออยู่ในประเทศไทยมีการคลุกคลีใกล้ชิดกันตลอดเวลา ใช้อุปกรณ์ชกมวยและกระสอบทรายร่วมกัน เมื่ออาการไม่ดีขึ้นวันที่ 25 พฤษภาคมจึงมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนเอกชนแห่งหนึ่งใน กทม. เมื่อพบประวัติเข้าได้กับโรคฝีดาษวานรจึงรายงานมายังกรมควบคุมโรคเพื่อสอบสวนโรคและเก็บตัวอย่างส่งตรวจ พร้อมทั้งส่งมารักษาที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนผลการสอบสวนโรคในสถานที่เสี่ยง พบผู้ป่วยชาวต่างชาติอีก 2 ราย จึงเก็บตัวอย่างส่งตรวจ ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และศูนย์วิทยาศาสตร์โรคอุบัติใหม่ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งผลการตรวจทั้ง 5 ราย พบว่าไม่ใช่โรคฝีดาษวานร แต่เป็นเชื้อเริม ทั้งหมดได้รับการรักษาด้วยยาอะไซโคลเวียร์ ขณะนี้แผลแห้งแล้ว
ทั้งนี้ สถานที่ออกกำลังกายที่มีการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน ต้องเช็ดทำความสะอาดเป็นประจำ จะช่วยป้องกันทั้งโรคโควิดและโรคอื่นๆ ส่วนผู้ที่ไปร่วมงานเฟสติวัลในต่างประเทศ หรือร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยง หากมีอาการขอให้มาพบแพทย์และแจ้งประวัติร่วมกิจกรรม
********************************** 30 พฤษภาคม 2565