เขื่อนลำปาวเตรียมหยุดส่งน้ำ สำรองใช้ต้นฤดูฝนนาปรังทะลุเป้าพร้อมวาง 2 แนวทางรับมือน้ำท่วม

เขื่อนลำปาวเตรียมหยุดส่งน้ำสิ้นเดือนเมษายนนี้ มั่นใจมีปริมาณน้ำสำรองเพียงพอใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ไม่หวั่นฝนปีนี้จะมาช้า เผยนาปรังที่ผ่านมาทำเต็มพื้นที่ทะลุแผนกว่า 270,000 ไร่ เตรียมเก็บเกี่ยวแล้ว พร้อมวาง 2 แนวทางรับมือน้ำท่วม คือ ใช้บางระกำโมเดลหรือปรับปรุงระบบระบายน้ำ

ดร.ทวีศักดิ์  ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า หลังจากสิ้นเดือนเมษายน 2562 นี้ โครงการส่งน้ำ-และบำรุงรักษาลำปาว จะทำการหยุดส่งน้ำเพื่อการเกษตร หลังจากที่ได้ส่งน้ำให้เกษตรกรทำนาปรังไปแล้วเกือบเต็มพื้นที่   ในฤดูแล้งปีนี้ หรือประมาณ 270,000 ไร่ เกินกว่าแผนที่กำหนดไว้ประมาณ 20,000 ไร่ ขณะนี้ได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว

ทั้งนี้ เขื่อนลำปาวยังคงต้องระบายน้ำลงลำปาว เพื่อรักษาระบบนิเวศ วันละ 400,000 ลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) และระบายน้ำนอนคลองให้กลุ่มผู้เลี้ยงกุ้งที่อยู่ในเขตชลประทาน ผ่านทางคลองส่งน้ำขวา กม.28 อีกประมาณวันละ 100,000 ลูกบาศก์เมตร รวมทั้งกิจกรรมใช้น้ำด้านอื่นด้วย ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคตลอดช่วงฤดูแล้งนี้

สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ปัจจุบันมีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำประมาณ 481 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น    ร้อยละ 24 ของความจุอ่างฯ มีเป็นปริมาณน้ำใช้การได้ประมาณ 381 ล้าน ลบ.ม. คาดการณ์ว่าเมื่อถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2562 จะมีน้ำเหลือในอ่างฯประมาณ 400 ล้าน ลบ.ม. ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ควบคุม และเพียงพอที่จะจัดสรรให้เกษตรกรด้านท้ายอ่างฯ ได้ทำนาปีในช่วงต้นฤดูกาลได้ตามปกติ แม้ว่าในปีนี้จะมีการคาดการณ์กันว่าฤดูฝนปีนี้จะมาล่าช้าจากต้นเดือนพฤษภาคมไปกลางเดือนพฤษภาคมก็ตาม ซึ่งทางโครงการฯได้แจ้งเตือนเกษตรกรให้งดการทำนาปรัง      ครั้งที่ 2 ไปแล้วก่อนหน้านี้

ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน นั้น ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวว่า โดยปกติปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยแต่ละปีในพื้นที่ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาวค่อนข้างจะอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ทำให้บางปีมีน้ำไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำหรือที่เรียกว่า “ทาม” ด้านท้ายเขื่อน ซึ่งเป็นบริเวณที่มีการทำนาปีและเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรอื่น ๆ ประมาณ 5,000 ไร่  กรมชลประทาน ได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้ 2 กรณี คือ เปิดพื้นที่ให้รับน้ำนองเช่นเดียวกับบางระกำโมเดล โดยปล่อยน้ำให้เกษตรกรทำนาและเก็บเกี่ยวให้เสร็จก่อนน้ำหลาก เมื่อถึงเดือนกันยายนจึงปล่อยให้เป็นพื้นที่เก็บน้ำได้ประมาณ 16 ล้าน ลบ.ม.

อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าว ยังมีเกษตรกรบางส่วนไม่พร้อมดำเนินการ จึงเสนอแนะวิธีการขุดลอก เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำออกจากที่ลุ่มต่ำได้ภายใน 2 อาทิตย์ หรือทำพนังกั้นน้ำโอบป้องกันน้ำเข้าท่วม โดยจากการตรวจสอบพบว่าปัญหาน้ำท่วมไม่ได้เกิดขึ้นซ้ำซากเป็นประจำทุกปี ประกอบกับภายหลังจากที่มีการเพิ่มความจุให้กับ       เขื่อนลำปาว ทำให้สามารถเก็บน้ำได้เพิ่มมากขึ้นอีกประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.  รวมไปถึงการคาดการณ์ที่แม่นยำของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในปีนี้จะสามารถควบคุมสถานการณ์พื้นที่ท้ายเขื่อนลำปาวได้ กรมชลประทาน โดยโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว ได้วางแผนเก็บกักน้ำในช่วงฤดูฝนที่กำลังจะมาถึงนี้ ให้เต็มศักยภาพของความจุอ่างฯประมาณ 1,900    ล้าน ลบ.ม. เพื่อเป็นน้ำต้นทุนและช่วยบรรเทาอุทกภัยให้พื้นที่ลุ่มต่ำของลุ่มน้ำปาว

“ในอนาคตโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำปาว มีแผนการปรับปรุงระบบส่งน้ำระยะทางรวมกว่า 600 กิโลเมตร เป็นคลองคอนกรีตเสริมเหล็กทั้งหมด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำให้ได้รวดเร็ว และทั่วถึงเต็มพื้นที่ชลประทานที่มีอยู่มากกว่า 300,000 ไร่ ซึ่งระบบกระจายน้ำที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้มีต้นทุนน้ำสมบูรณ์เพียงพอแม้ในฤดูแล้ง และจะเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง” ดร.ทวีศักดิ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย

 

*************************

กรมชลประทาน

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์