กระทรวงทรัพย์ฯ เดินหน้าแก้ปัญหาแล้งอย่างต่อเนื่อง

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562 โดยจะมีระยะเวลายาวนานไปถึงประมาณปลายเดือนพฤษภาคม ประกอบกับปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยที่ผ่านมามีค่าน้อยกว่าค่าปกติประมาณ 10% ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อนใหญ่ 4 เขื่อนที่ประกอบด้วย เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนทับเสลา เขื่อนกระเสียว ได้รับผลกระทบระดับกักเก็บน้ำต่ำกว่า 30 % นอกจากนั้นพื้นที่เกษตรนอกเขตชลประทาน 119 ล้านไร่ ก็ได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่

ปัจจุบันกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประกาศเขตพิบัติ (ภัยแล้ง) แล้วจำนวน 5 จังหวัด 13 อำเภอ 39 ตำบล 287 หมู่บ้าน ในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครราชสีมา ตราด และชลบุรี ซึ่งกรมทรัพยากรน้ำได้เตรียมการสร้างแหล่งน้ำต้นทุนที่เพียงพอเพื่อให้ประชาชนมีน้ำไว้ใช้ช่วงหน้าแล้งประกอบกับช่วงฤดูน้ำหลากแหล่งน้ำนั้นจะได้ทำหน้าที่กักเก็บน้ำ ชะลอการล้นเอ่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งมีระบบกระจายน้ำที่จะคอยส่งน้ำจากแหล่งกักเก็บมายังพื้นที่ของเกษตรกรหรือถังเก็บน้ำประปาเพื่อการอุปโภคบริโภคในครัวเรือนต่อไป โดยตั้งแต่ปี 2557 มาจนถึงปัจจุบัน  กรมทรัพยากรน้ำดำเนินโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้ว 17,827 แห่ง ประชาชนได้รับประโยชน์กว่า 684,705 ครัวเรือน ในพื้นที่เกษตร 1,907,808 ไร่ โครงการระบบกระจายน้ำ จำนวน 751 แห่ง ทำให้ประชาชน 57,547 ครัวเรือน ในพื้นที่ 188,064 ไร่ได้รับประโยชน์

นายสุวัฒน์  เปี่ยมปัจจัย อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่าในปี 2562 กรมทรัพยากรน้ำได้รับงบประมาณจัดทำโครงการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และพัฒนาแหล่งน้ำ จำนวน 273 โครงการ ได้ลงนามในสัญญาแล้ว 269 โครงการ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จ 30 โครงการ  และได้มีการติดตามเร่งรัดโครงการต่างๆอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้กรมทรัพยากรน้ำได้ดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้ง ตั้งแต่ตุลาคม 2561 ถึงปัจจุบัน โดยการสูบน้ำเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนจำนวน 27.414 ล้านลูกบาศก์เมตร แจกจ่ายน้ำ 4,253,000 ลิตร แจกจ่ายน้ำดื่มสะอาด 417,550 ลิตร น้ำดื่มบรรจุขวด 19,696 ขวด ประชาชนที่ได้รับประโยชน์ด้านการอุปโภคบริโภค 333,604 ครัวเรือน  พื้นที่เกษตรกรรม 84,950 ไร่ ซึ่งมีเครื่องมือพร้อมช่วยผู้ประสบภัยประกอบด้วย รถบรรทุกจำนวน 63 คัน เครื่องสูบน้ำจำนวน 311 เครื่อง และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญเหตุวิกฤตน้ำในพื้นที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 1-11 จำนวนกว่า 171 คน พร้อมทั้งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น อาทิ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ในพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำแล้ง ขาดน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร หากต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค  1 – 11 หรือ โทร 1310 กด 5

นายกุศล โชติรัตน์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2562 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลในการช่วยเหลือและบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรให้แก่ประชาชนผ่านโครงการต่างๆ เป้าหมายรวมกว่า 1,894 แห่ง ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จทั้งหมดจะสามารถให้บริการประชาชนได้กว่า 129,097 ครัวเรือน มีพื้นที่ได้รับประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 41,760 ไร่ และปริมาณน้ำที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้กว่า 44 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จกว่า 1,599 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 84.42

นอกจากนี้ กรมทรัพยากรน้ำบาดาลมีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยการตรวจสอบสภาพบ่อน้ำบาดาล เครื่องสูบน้ำ ระบบประปาบาดาล และระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำ ให้พร้อมใช้งานเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้ง โดยดำเนินการดังนี้ 1) จัดเตรียมจุดจ่ายน้ำถาวร 132 จุด เพื่อให้บริการน้ำสะอาดแก่ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำทั่วประเทศ 2) เร่งรัดการเจาะบ่อน้ำบาดาลในพื้นที่เสี่ยงที่จะขาดแคลนน้ำ  ให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2562 เป้าหมายรวม 737 แห่ง 3) จัดหน่วยนาคราชลงพื้นที่ปฏิบัติงาน เพื่อติดตามตรวจสอบและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาบ่อน้ำบาดาลและระบบประปาบาดาลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และ 4) นำรถปรับปรุงคุณภาพน้ำบาดาลผลิตน้ำดื่มสะอาดเข้าไปให้บริการแก่ประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำบริโภค และได้ดำเนินการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงปัจจุบัน  โดยแจกจ่ายน้ำรวม 1.36 ล้านลิตร เป่าล้างบ่อน้ำบาดาล 12 แห่ง ซ่อมแซมและติดตั้งเครื่องสูบ 26 แห่ง ซ่อมแซมระบบประปาบาดาล 34 แห่ง รวมถึงสำรวจสภาพและบำรุงรักษาจุดจ่ายน้ำถาวร 9 แห่ง

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อขอรับความช่วยเหลือด้านน้ำบาดาลได้ที่ โทรศัพท์ 0 2666 7099 และระบบขอความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งออนไลน์ http://1310.dgr.go.th เพื่อกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะได้ประสานให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือต่อไป