วันที่ (25 เมษายน 2562) ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นายแพทย์ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมคณะทำงานปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก และประชุมวิดีโอทางไกลกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปทั่วประเทศ ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะทำงานปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพื่อเตรียมการดูแลสุขภาพประชาชนที่มาร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก โดยจะเปิดศูนย์ปฏิบัติการด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่วนกลาง เพื่อประสาน สนับสนุนการดำเนินงาน ตั้งแต่วันที่ 2 – 6 พฤษภาคม 2562
นายแพทย์ประพนธ์กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กรมแพทย์เหล่าทัพ โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชน และมูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิป่อเต็กตึ้ง จัดทีมแพทย์ตรวจรักษา ประจำจุดบริการทางการแพทย์ ทีมคัดกรองด้านสุขภาพจิต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team : MCATT) ประจำจุดคัดกรอง และทีมเคลื่อนที่เร็ว ประกอบด้วย ทีมกู้ชีพระดับพื้นฐาน ทีมกู้ชีพระดับสูง ทีมแพทย์เดินเท้า และทีมด้านสุขภาพจิต กระจายอยู่ทุกพื้นที่ทั้ง 6 โซน รอบเขตกทม. รวมทั้งระบบสื่อสารส่งต่อผู้ป่วย เส้นทางฉุกเฉินและพาหนะในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย ทั้งทางบก ทางน้ำ เพื่อให้ผู้ป่วยถึงโรงพยาบาลที่เตรียมไว้เร็วที่สุด ทั้งในช่วงซ้อมใหญ่คือ 28 เมษายน และช่วงวันที่ 5 พฤษภาคม ซึ่งจะมีประชาชนเฝ้ารับเสด็จ ฯ ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค ได้เตรียมทีมแพทย์ไว้รวม 271 ทีม ประกอบด้วย ทีมกู้ชีพระดับสูง 37 ทีม ทีมกู้ชีพระดับพื้นฐาน 44 ทีม ทีมเดินเท้า 185 ทีม และทีมปฐมพยาบาล 48 ทีม รวมทั้งมีจิตอาสาพระราชทานด้านการแพทย์และสาธารณสุขลงทะเบียน 883 คนพร้อมร่วมปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ได้เตรียมเสริมทีมปฏิบัติการทางการแพทย์จากพื้นที่ปริมณฑลและจังหวัดใกล้เคียงอีก 15 ทีมพร้อมปฏิบัติการเมื่อได้รับการร้องขอจากส่วนกลาง
สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและโรงพยาบาลทุกจังหวัด ร่วมจัดบริการด้านสุขภาพแก่ประชาชนที่มาร่วมพิธีเปิดกรวยถวายสักการะ เจริญพระพุทธมนต์ และรับชมการถ่ายทอดสดพระราชพิธี ณ สถานที่จัดทำน้ำอภิเษก ในวันที่ 4 พฤษภาคม และที่ศาลากลางจังหวัด ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2562
“ประชาชนที่จะเข้าร่วมงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เตรียมร่างกายให้พร้อม พักผ่อนให้เพียงพอ เตรียมหมวก ร่ม พัด อาหารแห้งและน้ำดื่มหรือภาชนะสำหรับเติมน้ำ ผู้ที่มีโรคประจำตัวให้พกยาประจำตัวไว้ตลอดเวลา ในกลุ่มผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือผู้ที่เดินทางคนเดียว ขอให้เขียนชื่อ-สกุล ประวัติการแพ้ยาหรือโรคประจำตัว โรงพยาบาลที่รักษาประจำ หมายเลขโทรศัพท์ติดต่อญาติเก็บติดตัวไว้เสมอ เพื่อเป็นข้อมูลในการดูแลหากเจ็บป่วยฉุกเฉิน หากรู้สึกมีอาการผิดปกติให้แจ้งทีมแพทย์เดินเท้า หรือรับบริการที่หน่วยแพทย์บริเวณใกล้เคียง” นายแพทย์ประพนธ์กล่าว