นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า กรมการค้าภายใน ได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนในช่วงเปิดภาคเรียนและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านๆ มาได้จัดงานลดราคาสินค้าเครื่องแบบนักเรียนและสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน รวม 5 ครั้ง สำหรับในปี 2562 ได้กำหนดจัดงานลดราคาจำหน่ายสินค้า ภายใต้ชื่องาน “รวมใจ..เพิ่มสุข..ช้อปสนุก..ลดรับเปิดเทอม” ระยะเวลา ลดราคาจำหน่ายสินค้าระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 15 พฤษภาคม 2562 รวม 21 วันโดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ผู้ผลิตผู้จำหน่ายชุดนักเรียนรายใหญ่ จำนวน 4 ราย ได้แก่ ร้านศึกษาภัณฑ์ ของกระทรวงศึกษาธิการ ร้านน้อมจิตต์ ห้างตราสมอ และร้านสมใจนึก รวมทั้ง ร้านจำหน่ายเครื่องเขียนและอุปกรณ์การเรียน และสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ จำนวน 13 ราย ทุกสาขาทั่วประเทศกว่า 15,300 สาขา ประกอบด้วย 1) เดอะมอลล์ กรุ๊ป 2) เครือเซ็นทรัล 3) โรบินสัน 4) เทสโก้ โลตัส 5) บิ๊กซี 6) แม็คโคร 7) ตั้งฮั่วเส็ง 8) ท๊อปส์ 9) เซเว่น อีเลฟเว่น 10) แฟมิลี่มาร์ท 11) แม็กซ์แวลู 12) ลอว์สัน 108 13) ฟู้ดแลนด์ซุปเปอร์มาร์เก็ต
โดยการจัดงานลดราคาจำหน่ายสินค้าครั้งนี้ จะลดราคาสินค้าสูงสุดถึงร้อยละ 70 โดยสินค้าที่ลดราคา ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียน เช่น เสื้อนักเรียน กระโปรงนักเรียน กางเกงนักเรียน รองเท้านักเรียน ถุงเท้านักเรียน และอุปกรณ์การเรียน นอกจากนี้ ได้มีการลดราคาจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ เช่น ข้าวสารบรรจุถุง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำมันพืช สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก กระดาษชำระ เสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องครัว ภายใต้สัญลักษณ์รูปกล่องของขวัญติดตั้งบริเวณหน้าห้างค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่ที่เข้าร่วมโครงการ และสถานที่จำหน่ายสินค้า
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมการค้าภายในคาดว่าการดำเนินการในครั้งนี้ประชาชนจะมีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากจะต้องซื้อสินค้าชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียน และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพ ซึ่งคาดว่าจะมียอดจำหน่ายสินค้าในช่วงเวลาดังกล่าว ประมาณ 27,000 ล้านบาท จะช่วยลดภาระรายจ่ายให้กับผู้ปกครองและลดภาระค่าครองชีพประชาชนได้ร้อยละ 30 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาท ทำให้ประชาชนสามารถจับจ่ายด้วยเงินเท่าเดิม แต่ได้สินค้าเพิ่มมากขึ้น หรือประชาชนซื้อสินค้าปริมาณเท่าเดิมได้ในราคาที่ลดลง ซึ่งเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มกำลังซื้อของประชาชน เพิ่มการจับจ่ายใช้สอย และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้มีเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น