กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มุ่งพัฒนามาตรฐานกิจการฟิตเนส ออกร่างกฎหมายกำกับดูแล เน้นสถานที่ต้องมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย เครื่องออกกำลังกายต้องมีสภาพพร้อมใช้ บุคลากรผู้ให้บริการต้องมีความรู้ความสามารถ เดินหน้าจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างกฎกระทรวงกิจการสถานออกกำลังกาย(ฟิตเนส)” อีกครั้ง 9 มิถุนายนนี้ ผ่านระบบประชุมออนไลน์ และเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่าน QR Code บนเว็บไซต์ www.hss.moph.go.th ตั้งแต่บัดนี้ จนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2565 ก่อนจะรวบรวมทุกความคิดเห็นสู่ขั้นตอนของการออกกฎหมาย เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่มีความปลอดภัยจากกิจการที่ได้มาตรฐาน
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (กรม สบส.สธ.) เปิดเผยว่า กรม สบส.ได้เห็นความสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งของระบบธุรกิจบริการสุขภาพในประเทศตลอดมา จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกิจการสถานออกกำลังกาย(ฟิตเนส) ขึ้น โดยกำหนดให้กิจการฟิตเนส เป็นกิจการอื่นๆ ตามมาตรา3(3)ของพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 เพื่อให้กิจการฟิตเนสดำเนินการบนมาตรฐานเดียวกัน และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
โดยกรม สบส.ได้เชิญผู้ประกอบการ เทรนเนอร์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป มารับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ข้อคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมมาพอสมควร ซึ่งกรม สบส. ยังคงเดินหน้ารับฟังความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดให้แสดงความคิดเห็นผ่าน QR Code บนเว็บไซต์กรม สบส.(www.hss.moph.go.th) และจะจัดประชุมออนไลน์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ทั้งนี้ กรม สบส. เชื่อมั่นว่าหากกฎกระทรวงดังกล่าวมีการประกาศบังคับใช้ จะเป็นการส่งเสริมให้ฟิตเนสทุกแห่งดำเนินกิจการอย่างมีมาตรฐาน มีผู้ให้บริการที่มีความรู้ความชำนาญ สามารถให้คำแนะนำ ดูแลการออกกำลังกายได้อย่างถูกต้อง จะเป็นการส่งเสริมธุรกิจดังกล่าวให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ สร้างโอกาสที่ดีแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐาน และถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัย
ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าววว่า ร่างกฎกระทรวงกิจการสถานออกกำลังกาย (ฟิตเนส)มีขึ้น เพื่อมุ่งส่งเสริม พัฒนาให้กิจการฟิตเนสดำเนินกิจการอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้รับบริการ ใจความสำคัญของร่างกฎกระทรวง กำหนดให้ฟิตเนสต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่มีความปลอดภัย ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ปลอดจากเหตุรำคาญที่อาจรบกวน พื้นผิวต้องสะอาด ไม่ลื่น รองรับแรงกระแทกได้ มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่พร้อมใช้ตลอดเวลา เครื่องออกกำลังกายต้องมีสภาพพร้อมใช้ มีความปลอดภัยในการใช้สอย ไม่ก่อให้เกิดอันตราย บุคลากรต้องได้รับการฟื้นฟูวิชาการที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เทรนเนอร์ 1 คน รับผิดชอบให้คำแนะนำการใช้อุปกรณ์ต่อผู้รับบริการในการใช้เครื่องออกกำลังกายทุกชนิด ไม่เกิน 10 เครื่อง(1:10)
กรณีออกกำลังกายเป็นกลุ่ม ต้องจัดให้มีเทรนเนอร์รับผิดชอบให้คำแนะนำ 1 คน ต่อผู้ใช้บริการไม่เกิน 30 คน(1:30) มีระบบส่งต่อในกรณีผู้รับบริการเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน และมีการกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ต่ำสุด 1,000 บาท สูงสุดอยู่ที่ 10,000 บาท แต่ยกเว้นสำหรับสถานที่ออกกำลังกายของหน่วยงานภาครัฐหรือที่จัดไว้เพื่อเป็นสวัสดิการ
ทั้งนี้ กรม สบส.ขอเชิญชวนผู้เกี่ยวข้องทุกส่วน ร่วมแสดงความคิดเห็นเข้ามาให้มากที่สุด เพื่อร่วมกันพัฒนากฎหมายให้มีความสมบูรณ์ โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็น จนถึงวันที่ 10 มิถุนายนนี้ ทุกความคิดเห็นจะถูกนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างฯและเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในทุกขั้นตอนของการออกกฎหมายต่อไป
**** 25 พฤษภาคม 2565