กลุ่มพี่น้องแรงงานนับเป็นบุคลากรที่สำคัญ และเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้า ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน งานจะออกมามีคุณภาพได้ ไม่เพียงแค่ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผลที่ต้องได้รับเท่านั้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานจำเป็นจะต้องมีความปลอดภัย และสุขภาวะที่ดีในที่ทำงาน เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีด้วย
เมื่อพูดถึงเรื่องความปลอดภัยของการทำงานในองค์กร ตำแหน่งที่ขาดไม่ได้ และหลายคนอาจเคยได้ยิน นั่นก็คือ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานวิชาชีพ หรือ จป. วิชาชีพนั่นเอง ผู้ซึ่งมีความสำคัญ ทำหน้าที่แนะนำ กำกับดูแล รับผิดชอบให้พนักงานในสถานประกอบการได้รับความปลอดภัยในการทำงาน สำรวจ ตรวจสอบ ประเมินความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอันตรายจากการใช้เครื่องจักร อุปกรณ์ และเครื่องมือตลอดจนสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงเสนอให้มีการป้องกัน หรือแก้ไขปรับปรุงสภาพแวดล้อมในสถานประกอบการให้ได้มาตรฐานตามที่กฎหมายความปลอดภัยกำหนด
สสส. มีเป้าหมายในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับกลุ่มแรงงาน ตามภารกิจ “ป้องกันก่อนรักษา” ไม่เพียงแต่ความปลอดภัยในงานเท่านั้น แต่กลุ่มแรงงานต้องมีสุขภาวะที่ดีครบทุกด้านด้วย ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการหลักสูตร “พัฒนา จป. เพื่อเป็นผู้นำการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ” รุ่นที่ 2 (ภาคปฏิบัติ) ภายใต้โครงการพัฒนาศักยภาพและบทบาทหน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานด้านสุขภาวะองค์กร โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายได้จัดขึ้น เพื่อพัฒนา จป. ยุคใหม่ เป็นผู้นำในการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ
นายสุรชัย ชัยตระกูลทอง ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานได้มีบทบาทสำคัญ และร่วมดำเนินมาตรการควบคุม ป้องกันการแพร่ระบาดในสถานประกอบกิจการ ควบคู่ไปกับกระบวนการผลิตเป็นอย่างดี และเป็นผู้ที่มีส่วนช่วยให้อัตราการเกิดอันตรายจากการทำงานในภาพรวมของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี
“เพื่อเป็นการพัฒนาบทบาทของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน ให้เป็นผู้นำในการสร้างสุขภาวะองค์กร กระทรวงแรงงานได้ร่วมกับ สสส. ในการนำองค์ความรู้มาบูรณาการร่วมกันในการทำงาน และพัฒนา จป. ให้มีความรู้ทั้งด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และการสร้างสุขภาวะแบบองค์รวม เพื่อให้แรงงานทำงานอย่างปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข เป็นกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสถานประกอบการต่อไป” นายสุรชัย กล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สสส. กล่าวว่า บทบาทของ จป. เป็นกลุ่มที่สำคัญมาก สสส. เข้ามาร่วมกับกระทรวงแรงงาน เสริมสร้างองค์ความรู้ต่าง ๆ ในการสนับสนุนให้ จป. เป็นผู้นำการขับเคลื่อนองค์กรสุขภาวะ มุ่งพัฒนาสุขภาวะคนทำงานในองค์กร ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญและเป็นกำลังหลักของครอบครัว องค์กร ชุมชน และสังคม
“แต่เดิมเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยวิชาชีพหรือว่า จป. ก็จะทำงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย มุ่งเน้นทางด้านร่างกายเป็นหลัก ซึ่งถือว่าดีอยู่แล้ว แต่การที่แรงงานจะมีความสุข ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ต้องมีความสุขทางจิตใจด้วย สสส. ผลักดันให้เกิดสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ขึ้นในองค์กรทั้งในด้านกาย จิต ปัญญา สังคม โดยใช้ชุดความรู้ Happy Workplace แนวคิดของการสร้างสุขภาวะองค์กรแบบองค์รวมของการทำงาน ที่ สสส. ได้จัดทำขึ้น หนุนเสริมให้ จป. ได้นำไปปรับใช้ เพื่อสร้างสุขภาวะให้เกิดขึ้นในองค์กรของตนเอง” นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
นอกจากความปลอดภัยในที่ทำงานแล้ว แรงงานจะต้องมีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 8 มิติ เพื่อคุณภาพชีวิตดี ประกอบด้วย
1.Happy Body (สุขภาพดี) มีสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เพราะมีความเชื่อว่าถ้ามนุษย์ มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ก็จะมีจิตใจที่ดี พร้อมที่จะรับมือกับปัญหาที่จะเข้ามาได้เป็นอย่างดี
2.Happy Heart (น้ำใจงาม) มีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกันและกัน เนื่องจากมีความเชื่อว่าความสุขที่แท้จริง คือ การเป็นผู้ให้
3.Happy Society (สังคมดี) มีความรัก สามัคคี เอื้อเฟื้อต่อชุมชนที่ตนทำงาน และพักอาศัย มีสังคมและสภาพแวดล้อมที่ดี เพราะเชื่อว่าการที่ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีภายในสังคมหรือชุมชนนั้น ย่อมเป็นพื้นฐานที่ดี ที่จะทำให้ผู้อยู่อาศัย มีความรัก ความปรองดอง สามัคคีกัน ต่อกัน พร้อมร่วมแรงร่วมใจช่วยกันพัฒนาชุมชนให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
4.Happy Relax (ผ่อนคลาย) รู้จักผ่อนคลายต่อสิ่งต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิต เพราะเชื่อว่าคนทำงาน หากไม่รู้จักสรรหาการผ่อนคลายให้กับตนเอง ก็จะทำให้ร่างกายและจิตใจเกิดความเครียด งผลกระทบต่อหน้าที่การทำงาน
5.Happy Brain (หาความรู้) มีการศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเองตลอดเวลา จากแหล่งต่าง ๆ นำไปสู่การเป็นมืออาชีพและความมั่นคงก้าวหน้าในการทำงาน เพราะเชื่อว่า ถ้าเราทุกคนแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ มาเพิ่มพูนความรู้ และพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ก็จะเป็นอีกหนึ่งแรงผลักดัน ช่วยให้องค์กรพัฒนาขึ้น ด้วยบุคลากรที่มีศักยภาพ
6.Happy Soul (ทางสงบ) มีความศรัทธาในศาสนาและมีศีลธรรมในการดำเนินชีวิต เพราะเชื่อว่า หลักธรรมคำสอนของศาสนา เป็นสิ่งที่จะช่วยการดำเนินชีวิตของทุกคนให้ดำเนินไปในเส้นทางที่ดีได้ ทำให้ทุกคนมีสติ มีสมาธิในการทำงาน สามารถรับมือกับปัญหาที่เข้ามาได้ ยึดหลักสนับสนุนให้เป็นคนดี คิดดี ทำดี และมีความศรัทธาในคุณงามความดีทั้งปวง
7.Happy Money (ปลอดหนี้) มีเงิน รู้จักเก็บ รู้จักใช้ ไม่เป็นหนี้ ปลูกฝังนิสัยอดออม ประหยัด รู้จักใช้เงิน ไม่สุรุ่ยสุร่าย ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ยึดหลักคำสอนการดำเนินชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
8.Happy Family (ครอบครัวดี) มีครอบครัวที่อบอุ่นและมั่นคง ปลูกฝังนิสัยรักครอบครัว เพื่อนำไปเป็นหลักการใช้ชีวิต ให้รู้จักความรัก ความเชื่อมั่น และความศรัทธาในความดีงาม จึงจะเกิดเป็นคนดี ในสังคม (รักตนเอง รักครอบครัว รักการงาน รักเพื่อน รักในสิ่งที่พอเพียง)
กลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าให้กับประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลและให้ความสำคัญ สสส. และภาคีเครือข่ายมุ่งสร้างสุขภาวะที่ดีครบทุกมิติให้กับแรงงานทุกคนอย่างเสมอภาค เพราะเชื่อเสมอว่า หากแรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี คุณภาพของงานย่อมออกมาดีด้วย
นอกจากนี้ สสส. ได้ร่วมกับ กระทรวงแรงงาน พัฒนาชุดความรู้ในการสร้างเสริมสุขภาพ ภายใต้แนวคิดสุขภาวะองค์รวมของวัยทำงาน รวมถึงคู่มือการส่งเสริมสุขภาวะในองค์กร ผู้สนใจข้อมูลติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.happy8workplace.com หรือเพจเฟซบุ๊ก Happy8 Workplace https://web.facebook.com/Happy8workplace