กรมอนามัย ห่วง เด็กไทยดื่มนมน้อย ครึ่งแก้วต่อวัน หนุน ดื่มนมจืด 2 แก้ว ทุกวัน เพิ่มความสูง

​กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผย เด็กไทยดื่มนมน้อย เฉลี่ยเพียงครึ่งแก้วต่อวัน แนะวัยเรียน วัยรุ่น ดื่มนมจืด 2 แก้วทุกวัน ร่วมกับกินอาหารครบหมู่ ครบมื้อ ครบส่วน ช่วยให้เติบโต แข็งแรง สูงสมวัย

​นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานรณรงค์วันดื่มนมโลก 2565 (World Milk Day 2022) “วัยเรียนวัยรุ่น ดื่มนมจืด 2 แก้ว ทุกวัน เติบโต แข็งแรง สูงสมวัย” ณ โถงอาคาร 1 ชั้น 1 กรมอนามัย ว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กำหนดให้วันที่ 1 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันดื่มนมโลก” หรือ “World Milk Day” เพื่อให้ประเทศและองค์กรต่าง ๆ ให้ความสำคัญและร่วมกันจัดกิจกรรมรณรงค์ดื่มนม

เนื่องจากปัจจุบันพบว่าเด็กเตี้ยเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 9.7 เป็น 12.9 โดยส่วนสูงเฉลี่ยเด็กอายุ 12 ปี เพศชาย 147.1 เซนติเมตร เพศหญิง 148.1 เซนติเมตร ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี เพศชาย 170.9 เซนติเมตร เพศหญิง 158.1 เซนติเมตร สอดคล้องกับข้อมูลเด็กไทยดื่มนมน้อย เฉลี่ยเพียงครึ่งแก้วต่อวัน วัยเรียนดื่มนมทุกวันเพียงร้อยละ 31.1 วัยรุ่นร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ คนไทยดื่มนม 18.6 ลิตร/คน/ปี อินเดีย 59.6 ลิตร/คน/ปี ญี่ปุ่น 32.1 ลิตร/คน/ปี เกาหลีใต้ 30 ลิตร/คน/ปี

​นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับปีนี้ กรมอนามัยร่วมกับราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ แห่งประเทศไทย สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายนมดีทุกวัยดื่มได้ทุกวัน ขับเคลื่อนงานส่งเสริมสุขภาพวัยเรียนวัยรุ่น โดยรณรงค์ให้เด็กไทยดื่มนมจืดแก้วที่สองที่บ้าน วัยเรียนวัยรุ่นดื่มนมจืดให้ได้ 2 แก้วทุกวัน พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองช่วยเตรียมนมไว้ที่บ้านสำหรับเด็ก เนื่องจากผลการสำรวจของกรมอนามัยสอดคล้องกับสวนดุสิตโพล พบว่า เด็กและวัยรุ่นจะดื่มนมมากขึ้นถ้ามีนมติดบ้าน ร่วมกับกินอาหารประเภทอื่น ๆ ให้หลากหลาย ครบ 5 หมู่ ทั้ง 3 มื้อ ในปริมาณสัดส่วนที่เหมาะสม

โดยเฉพาะวัยเรียน วัยรุ่น ควรส่งเสริมให้ออกกำลังกายที่มีการกระแทกของข้อต่อ เช่น การกระโดดวันละ 60 นาที รับแสงแดดทุกวันเพื่อให้ได้รับวิตามินดี ส่งเสริมการดูดซึมแคลเซียมจากนม และนอนให้เพียงพอ วัยเรียน 9-11 ชั่วโมงต่อวัน วัยรุ่น 8-10 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อให้เด็กไทยเติบโต แข็งแรง สูงสมวัย บรรลุเป้าหมายปี 2570 คือ ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 12 ปี เด็กชาย 152 เซนติเมตร เด็กหญิง 153 เซนติเมตร ส่วนสูงเฉลี่ยอายุ 19 ปี ชาย 175 เซนติเมตร หญิง 165 เซนติเมตร

​“ทั้งนี้ นมเป็นแหล่งที่ดีของโปรตีน แคลเซียม ฟอสฟอรัส วิตามินเอ วิตามินบี 2 และวิตามินบี 12 โปรตีนในนมเป็นโปรตีนคุณภาพดี แคลเซียมในนมมีปริมาณมาก และดูดซึมได้ดีที่สุด มีความสำคัญมาก ต่อมวลกระดูก และการขยายตัวของกระดูก โดยเฉพาะในวัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต และมีความสำคัญมากขึ้นในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มมีช่วงโตเร็ว จะมีการสะสมมวลกระดูกเพิ่มขึ้นมาก ทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง ช่วยเพิ่มส่วนสูง นอกจากนี้ นมยังมีวิตามินเอช่วยในการมองเห็น และเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย วิตามินบี 2 ช่วยในกระบวนการเผาผลาญอาหาร กระตุ้นให้ร่างกายทำงานได้เป็นปกติ ป้องกันโรคปากนกกระจอก ส่วนวิตามินบี 12 ช่วยในการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดแดง” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***
กรมอนามัย / 24 พฤษภาคม 2565