กระทรวงสาธารณสุข ดัน ยุว อสม. 10,000 คนทั่วประเทศ สื่อสารสุขบัญญัติ ข้อ 10 เน้นพฤติกรรมล้างมือ กินอาหารแยกสำรับ สวมหน้ากาก ฉีดวัคซีนตามกำหนด และกำจัดขยะติดเชื้อให้ถูกวิธี โดย ยุว อสม. 1 คน บอกต่อเพื่อน ครอบครัว และคนในชุมชน 10 คน สร้างพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองได้เพิ่มขึ้นอีก 100,000 คน
วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 ที่ โรงแรม ทีเค พาเลซ แอนด์ คอนเวนชั่น กทม. นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ มอบหมายให้ ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ร่วมเปิดงานรณรงค์เนื่องในวันสุขบัญญัติแห่งชาติ ปี 2565 ภายใต้คำขวัญ “ยุว อสม. สร้างจิตสำนึก รู้คิด รู้ใช้ชีวิต ด้วยสุขบัญญัติไร้โควิด” โดยมีเครือข่าย ยุว อสม. ทั่วประเทศ และหน่วยงานภาคีเครือข่าย เข้าร่วมงาน
นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า สุขบัญญัติ เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนจะต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย เพื่อให้มีสุขภาพที่ดีทั้งร่างกาย จิตใจ และสังคม โดยในปีนี้ การรณรงค์สุขบัญญัติแห่งชาติ มีเป้าหมายให้ประชาชนมีการดูแลสุขภาพในประเด็นสุขบัญญัติ ข้อ 10 มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม โดยเน้นพฤติกรรมล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนกินอาหาร หลังการขับถ่าย และหลังสัมผัสพื้นผิว วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ร่วมกัน กินอาหารแยกสำรับ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเมื่อออกนอกบ้าน ฉีดวัคซีนตามกำหนด และกำจัดขยะติดเชื้อให้ถูกวิธี
ซึ่งการดำเนินงานจะขับเคลื่อนโดย ยุว อสม. จำนวน 10,000 คนทั่วประเทศ ที่พัฒนาโดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นแกนนำทำหน้าที่เป็นนักสื่อสารสุขภาพ นำแนวทางสุขบัญญัติ ข้อ 10 บอกต่อให้กับเพื่อน ครอบครัว และคนในชุมชน โดย ยุว อสม. 1 คน จะบอกต่อเด็กและเยาวชน 10 คน คาดว่าจะมีเด็กและเยาวชนสามารถดูแลสุขภาพตนเองได้เพิ่มขึ้นถึง 100,000 คน นอกจากนี้ ยังได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคมทั้ง 76 จังหวัด ร่วมกันสานพลังรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเกิดการรับรู้ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร่วมกันหยุดการแพร่เชื้อโควิด 19 ไม่นำเชื้อเข้าบ้านและดำเนินชีวิตแบบวิถีใหม่อย่างถูกต้อง ปลอดภัย เพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไป
ด้าน ทันตแพทย์อาคม กล่าวต่อว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลสุขภาพกาย จิต และสังคม ตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากการสำรวจเฝ้าระวังพฤติกรรมสุขภาพประชาชน จากกลุ่มตัวอย่างนักเรียน 7,209 คน และประชาชนทั่วไป จำนวน 113,847 คน พบว่า ยังมีพฤติกรรมในการป้องกันตนเองและครอบครัวไม่เพียงพอในการดำเนินชีวิตอย่างปลอดภัยต่อสุขภาพ อาทิ เข้าใจว่าในช่วงสถานการณ์โรคโควิด 19 สามารถล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนหรือคนในครอบครัวได้ ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิวที่ถูกสัมผัสบ่อย ๆ ไม่ล้างมือก่อนรับประทานอาหาร หลังใช้ห้องน้ำ หรือไอจาม หรือสัมผัสวัตถุสิ่งของร่วมกัน เป็นต้น
จึงต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจ โดยใช้กลุ่มคนรุ่นใหม่มาสร้างกระแสและช่วยกันสื่อสารให้นำแนวทางสุขบัญญัติไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพื่อให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและปลอดภัยจากโรคโควิด 19 การดูแลสุขภาพ ให้ปลอดภัยจากโควิด 19
*************** 23 พฤษภาคม 2565