กระทรวงพาณิชย์ เผยผลสำเร็จการประชุม AEM Retreat ครั้งที่ 25 สุดปลื้ม อาเซียนเห็นชอบประเด็นด้านเศรษฐกิจที่ต้องการผลักดัน 3 ด้าน 13 ประเด็น ตามที่ไทยเสนอ รวมทั้งเห็นด้วยกับการแสดงบทบาทเชิงรุกของอาเซียนเพื่อปฏิรูป WTO พร้อมทั้งยังได้ร่วมลงนามความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ATISA) และลงนามพิธีสารแก้ไขความตกลงการลงทุนอาเซียน (ACIA) ฉบับที่ 4 เชื่อส่งผลให้การค้าบริการและการลงทุนอาเซียนขยายตัวก้าวกระโดด ตลอดจนเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่จะทำให้อาเซียนบรรลุเป้าหมาย AEC Blueprint 2025
นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM Retreat) ครั้งที่ 25 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ระหว่างวันที่ 22 – 23 เมษายน 2562 ณ โรงแรมอังสนา ลากูน่า จังหวัดภูเก็ต โดยถือเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีการค้าของอาเซียนครั้งแรกของปี 2562 ที่ไทยเป็นประธานอาเซียน
นางสาวชุติมา กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ อาเซียนเห็นชอบประเด็นที่ไทยในฐานะประธานอาเซียนผลักดันเพื่อให้สมาชิกอาเซียนดำเนินการให้สำเร็จในปีนี้ (Priority Economic Deliverables) ทั้ง 3 ด้าน 13 ประเด็น ประกอบด้วย ด้านการเตรียมความพร้อมของอาเซียนสำหรับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดทำแผนการดำเนินงานด้านดิจิทัล การจัดทำแผนงานด้านนวัตกรรม การจัดทำแนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับ 4IR การส่งเสริมการใช้ดิจิทัลในผู้ประกอบการรายย่อย ด้านการส่งเสริมความเชื่อมโยง มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การเชื่อมโยงระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) ให้ครบทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร การสรุปการเจรจา RCEP และด้านการส่งเสริมการพัฒนาทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างยั่งยืนในทุกมิติ มีประเด็นที่เกี่ยวข้อง อาทิ การส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืน การดำเนินความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวภาพของอาเซียน
นางสาวชุติมา กล่าวเสริมว่า รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน (AEM) ยังได้ลงนามความตกลงการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Trade in Services Agreement: ATISA) ที่จะนำมาใช้แทนกรอบความตกลงว่าด้วยบริการของอาเซียนฉบับปัจจุบัน (AFAS) ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2538 ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุน โดยเฉพาะในสาขาที่ไทยมีศักยภาพ เช่น บริการด้านสุขภาพ บริการด้านการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร เป็นต้น รวมถึงยังได้ร่วมลงนามพิธีสารฉบับที่ 4 เพื่อแก้ไขความตกลงการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Comprehensive Investment Agreement: ACIA) เพื่อปรับปรุงความตกลงฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการห้ามรัฐกำหนดเงื่อนไขให้นักลงทุนปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในภูมิภาคมากขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนไทยที่จะไปลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียน อีกด้วย
สำหรับประเด็นด้านการปฏิรูป WTO อาเซียนเห็นชอบให้ประเทศสมาชิกมีบทบาทเชิงรุกใน 3 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย (1) การธำรงไว้ซึ่งระบบการค้าพหุภาคี (2) ความจำเป็นในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ทางการค้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการค้าในปัจจุบัน และ (3) ความเร่งด่วนในการปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ เพื่อให้มั่นใจว่ากลไกการทำงานของ WTO จะสามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ อาเซียนยังได้รับทราบความคืบหน้าเกี่ยวกับผลของการเจรจาในประเด็นต่างๆ ประกอบด้วย ผลการเจรจาจัดทำความตกลงยอมรับร่วม ASEAN MRA on Type Approval for Automotive Products (AP MRA) ที่ล่าสุดสามารถตกลงประเด็นคงค้างที่สำคัญเกี่ยวกับคำนิยามของผลิตภัณฑ์ยานยนต์อาเซียน (ASEAN Automotive Products) ได้แล้ว โดยในช่วงแรก MRA ครอบคลุมเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในอาเซียน (Manufactured in ASEAN) และให้ทบทวนในปีที่ 4 หลังจาก APMRA มีผลใช้บังคับ ส่วนในด้านการจัดทำ MRA ผลิตภัณฑ์ยานยนต์ภายในอาเซียนจะลดอุปสรรคทางการค้าลง ด้วยการเปิดโอกาสให้มีการรับรองผลการตรวจสอบระหว่างหน่วยงานทดสอบของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยที่ไม่ต้องตรวจสอบสินค้าและรับรองซ้ำอีกต่อไป โดยคาดว่าจะมีการลงนามความตกลงฯ ในช่วงการประชุม AEM ครั้งที่ 51 ในเดือนกันยายนนี้
สำหรับผลการเจรจาและประเด็นคงค้างสำคัญของการเจรจา RCEP อาเซียนจะต้องร่วมกันหาท่าทีในประเด็นที่ยังไม่มีท่าทีร่วมให้ได้ในช่วงการประชุมคณะกรรมการอาร์เซ็ป สมัยพิเศษ ครั้งที่ 5 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 23-31 พฤษภาคม 2562 ณ กรุงเทพฯ ทั้งนี้ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนจะหารือประเด็น RCEP อีกครั้งในช่วงก่อนการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ในเดือนมิถุนายน 2562 ณ กรุงเทพฯ เพื่อเสนอเป็นท่าทีต่อประเทศคู่เจรจา ก่อนพบกับคู่เจรจาในการประชุมคณะกรรมการอาร์เซ็ป ครั้งที่ 26 ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ในเดือนมิถุนายน 2562
ทั้งนี้ สำหรับการประชุมร่วมกับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN Business Advisory Council: ASEAN-BAC) เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา ASEAN-BAC ได้นำเสนอประเด็นที่ภาคธุรกิจของอาเซียนให้ความสำคัญและจะมีการดำเนินงานในปีนี้ ได้แก่ การเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยขจัดมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า (NTB) และลดขั้นตอนทางศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าสินค้ามูลค่าต่ำ (Low Value Shipment) และการส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านการค้าดิจิทัลในภูมิภาค (Regional Digital Trade Connectivity) โดยเสนอให้มีการจัดทำแผนงาน การดำเนินงานในการปรับประสานกฎระเบียบด้านการค้าดิจิทัลระหว่างสมาชิกอาเซียน แก้ไขกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนการค้าดิจิทัลในภูมิภาค รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
อาเซียนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2561 การค้าระหว่างไทยกับอาเซียน มีมูลค่าการค้ารวม 113,934 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 13 โดยในปี 2561 ไทยส่งออกไปอาเซียน มูลค่า 68,437 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำเข้าจากอาเซียน มูลค่า 45,497 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยเกินดุล 22,940 ล้านเหรียญสหรัฐ และการส่งออกของไทยไปอาเซียนในปัจจุบัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย