จังหวัดเพชรบูรณ์ เดินหน้าผลักดันตลาด OTOP ปี 62 สู่ชุมชนเมืองสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม OTOP รายสาขา

จังหวัดเพชรบูรณ์ เดินหน้าผลักดันตลาด OTOP ปี 62 สู่ชุมชนเมืองสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่ม OTOP รายสาขา ยกระดับขีดความสามารถแข่งขันของชาวเกษตรกรอุตสาหกรรมบริการและการค้าการลงทุนจัดทัพสินค้าดาวเด่นผู้ผลิตผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 50 กลุ่ม บุกใจกลางกรุงเปิดงานมหกรรม OTOP เที่ยวเพชรบูรณ์ สนุก x 2 ไปแล้วจะรู้… อยู่แล้วจะรัก… ” 5 วัน เป็นการเปิดตลาดสินค้าOTOP และการท่องเที่ยวของเพชรบูรณ์สู่ชาวกรุงเทพฯและจังหวัดใกล้เคียง  พบกับบรรยากาศเที่ยวเพชรบูรณ์สนุก x 2 สนุกสุดมันส์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน ณ ฟิวเจอร์ปาร์ค รังสิต 26 ถึง 30 เมษายน มีผู้เข้าชมคาดมีผู้เข้าจับจ่ายซื้อของวัน 8, 000-10, 000 คน จากยอดผู้เข้าห้างวันละ 157, 000 คน ดันสินค้าโอทอปกลุ่มที่ผลักดันตลาดสินค้า OTOP รวมทะยานสูง 2 แสนล้านบาท ตามนโยบายกรมพัฒนาชุมชน

นายสืบศักดิ์ เอี่ยมวิจารณ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า จังหวัดเพชรบูรณ์เป็นเมืองมีของดีหลายอย่างและเป็นเมืองท่องเที่ยว  มาถึงเพชรบูรณ์ต้อง 678   หมายถึง  6 อย่างต้องกิน 7 อย่างต้องซื้อ 8 อย่างที่ต้องไปเที่ยวและเตรียมจัดมหกรรมสินค้า OTOP เพื่อให้ชาวกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียงได้รับทราบ  เพิ่มช่องทางการตลาดของผู้ประกอบการและส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด

ด้านนายประดิษฐ์ หลวงจอก พัฒนาการจังหวัดเพชรบูรณ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวให้รายละเอียดการจัดงานว่า จากนโยบายเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ สร้างความสามารถในการแข่งขัน ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของชาวเกษตรอุตสาหกรรม บริการ และการค้าการลงทุน โดยให้ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดพัฒนากระบวนการผลิตการบริหารจัดการ การตลาดสินค้า การบริหารจัดการ การตลาดสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชนนั้นตามแผนพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ (พ.ศ.2561-2564) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ “พัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน และส่งเสริมอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความพร้อมต่อ AEC” ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ในการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์(OTOP)ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนและยกระดับผลิตภัณฑ์OTOP ให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ดังนั้นในปี 2562 ได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน(OTOP)สู่ตลาดใหม่ ๆ ให้กับผู้ผลิต/ผู้ประกอบการ ผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มท่องเที่ยว จำนวน 50 กลุ่ม เข้าร่วมกิจกรรมจังหวัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ตามโครงการ 1 ครั้ง ระยะเวลา 5 วัน โดยบุกใจกลางเมืองเป็นงาน “มหกรรม OTOPเพชรบูรณ์เที่ยวเพชรบูรณ์ สนุกx2ไปแล้วจะรู้…อยู่แล้วจะรัก…” 5วัน โดยพบกับบรรยากาศ เที่ยวเพชรบูรณ์ สนุกx2 สนุกสุดมัน ผลิตภัณฑ์ชุมชน ระหว่างวันที่ 26-30 เมษายน 2562 ณ ฟิวเจอร์ ปาร์ค รังสิต ลานสินค้า อไลฟ์ ฮอล์ล ชั้น G คาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานและมาจับจ่ายต่อวัน 8,000-10,000 บาท จากยอดผู้เข้าห้างสรรพสินค้าวันละ 157,000 คนเพื่อดันสินค้าโอท็อปเพชรบูรณ์ ที่เป็นอีกกลุ่มที่ผลักดันตลาดสินค้าโอท็อปรวม ทะยานสู่ 2 แสนล้านบาท ตามนโยบายกรมพัฒนาชุมชน

“พช.มีการผลักดันเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์เพื่อให้สินค้าOTOP มีคุณภาพ มีความยั่งยืน และส่งเสริมพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ เช่น กล้วยฉาบไส้มะขาม ซึ่งมะขามจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นที่เดียวที่ปลูกแล้วขายได้ในระดับโลก เนื่องจากที่มีดิน อุณหภูมิ อากาศ พอเหมาะ จึงได้ผลดี ฝักออกตอนฝนไม่ตกจึงไม่เป็นเชื้อรา”

คุณ ธีรพร​ พรพฤฒิพันธุ์​  ประธานเครือข่ายโอท็อป​ จ.เพชรบูรณ์​ กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ที่นำมาจำหน่ายมีทั้งอาหาร มะขาม กาแฟ แมคคาเดเมีย ไก่ย่างวิเชียรบุรี ผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ผ้าเขียนเทียน ผ้าปัก ผ้าลายมุก เครื่องประดับ เซรามิค  และนำเสนอการท่องเที่ยว แนะนำเขาค้อ อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ ที่กำลังเสนอเพื่อเป็นมรดกโลก

ทั้งนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กล่าวถึง ยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า  เดิมมีนักท่องเที่ยวไทยมากถึง 90% กำลังจะดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา ซึ่งการจะเดินสู่เป้าหมายดังกล่าวได้ต้องทำให้เป็นระดับโลก ทำให้นักท่องเที่ยวมาได้ทั้งปีจากปัจจุบันมาได้เพียง 4 เดือน ช่วงฤดูหนาว ฤดูฝน ในช่วงฤดูร้อนจะต้องทำอย่างไรเพื่อดึงนักท่องเที่ยวมา

ที่ผ่านมาทางจังหวัดและมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเสนอองค์การสหประชาชาติ (UN)เพื่อให้เป็นมรดกโลก ได้แก่  อุทยานประวัติศาสตร์ ศรีเทพ ที่ได้เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีแล้ว และมีคณะกรรมการที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานเพื่อพิจารณาแล้ว  ซึ่งได้ในระดับชาติแล้ว ในขั้นต่อไปจะเสนอยูเอ็นเพื่อเป็นระดับโลก

ทางด้านอุทยานธรณีวิทยา รอการมาตรวจ โดยกำลังเสนอคณะกรรมการที่มีพล.อ.ประวิตร เป็นประธานเหมือนกันพิจารณา เพื่อดันให้เป็นมรดกโลก ซึ่งเสนอไป 14 แห่ง แต่ถูกท้วงติงเรื่องไกลและมีอยู่ทุกอำเภอ จึงขอให้เหลือเพียง 2 แห่งได้แก่ น้ำหนาวและหล่มสัก เพื่อเป็นอุทยานธรณีวิทยา

“เมื่ออุทยานธรณีวิทยานี้ไปอยู่ในกูเกิล ไปอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกโลกของยูเอ็นแล้ว นักท่องเที่ยวก็จะมา”

นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ยังชูจุดแข็งของเพชรบูรณ์ในเรื่องของอากาศที่ดี การมีแหล่งธรรมชาติที่เกิดขึ้น  และมีแหล่งวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการสร้าง เช่น พระบาทซ่อนแก้ว และต่อไปจะมีสร้างแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มเพื่อดึงดูดคนมาพักไม่ใช่แวะมาแล้วผ่านไป เช่น สร้างพุทธมณฑลที่เป็นเจดีย์รูปพระธรรมจักร ซึ่งจะเป็นหอชมเมือง เป็นสกายวอล์ค เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวในตัวเมืองเพิ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกันยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อดึงนักท่องเที่ยว  โดยล่าสุดร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดอีเวนต์ที่สำคัญ เป็นกีฬาผู้สูงอายุ  ซึ่งเพชรบูรณ์มีความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยว สถานที่พักต่าง ๆ  พร้อมรองรับนักท่องเที่ยว ผู้สูงวัย

อีกทั้งยังมีความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการและเอกชน ช่วยพัฒนาจังหวัดให้เป็นที่รู้จักทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวที่สร้างขึ้นมา รวมทั้งสินค้า ของกินให้เพิ่มมากขึ้น ผลิตภัณฑ์สินค้า OTOP ที่มีส่วนสำคัญช่วยด้านท่องเที่ยวและส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ด้วย

ทั้งนี้ได้ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวมาเพชรบูรณ์เพิ่ม 5-10% ต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันมีมากกว่า 2 ล้านคนต่อปี ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 2.5ล้านคนในปีนี้  ขณะที่ยอดขายสินค้า OTOP รวมของจังหวัดอยู่ที่ประมาณ 80,000 ล้านบาทต่อปี