กระทรวงสาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหาร และโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ครั้งที่ 1/2565 พิจารณาเห็นชอบ 3 ประเด็นหลัก เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความรู้ และความตระหนักในการบริโภค
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุม คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมกองอาหาร สำนักคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ว่า การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงด้านอาหาร และโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี ในครั้งนี้ ได้ร่วมกันพิจารณา 3 ประเด็นหลัก คือ
1) แผนการดำเนินงานขับเคลื่อนภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 ด้านอาหารศึกษา ภายใต้คณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เพื่อสร้างความเชื่อมโยง ด้านอาหารและโภชนาการสู่คุณภาพชีวิตที่ดี พ.ศ. 2565
2) การดำเนินงานขับเคลื่อนภายใต้คณะกรรมการ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ใน 2 ประเด็นย่อย คือ
2.1) การพัฒนาและส่งเสริมการใช้สัญลักษณ์โภชนาการอย่างง่าย (Healthier Choice Logo)
2.2) การพัฒนาการบริหารจัดการด้านอาหารและโภชนาการในโรงเรียนและชุมชน
3) คำสั่งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ เรื่อง แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตามด้านเป้าหมาย ลดคนขาดแคลนอาหาร (Hunger) และภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ซึ่งจากรายงานความก้าวหน้า SDGs พ.ศ. 2559 – 2563 สถานการณ์ด้านการขจัดความหิวโหยของประเทศไทยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ความชุก ของภาวะขาดสารอาหาร ใน พ.ศ. 2561 อยู่ที่ร้อยละ 9.3 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 8.6 ใน พ.ศ. 2559 สัดส่วนของเด็กไทยอายุต่ำกว่า 5 ปี ที่มีภาวะเตี้ย ผอม และน้ำหนักเกิน ซึ่งเพิ่มขึ้นใน พ.ศ. 2562 เมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2559 รวมทั้งภาวะโภชนาการเกินในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
“ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงศึกษา รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกรมประชาสัมพันธ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมควบคุมโรค สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันอาหาร สถาบันโภชนาการ สมาคมโภชนาการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักโภชนาการ กรมอนามัย มีมติเห็นชอบหลักการตามเสนอ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การจัดการด้านอาหารของประเทศไทยให้เกิดความเชื่อมโยง ด้านอาหาร โภชนาการ และสุขภาพ
รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความรู้และความตระหนักในการบริโภค เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ 5 ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านการจัดการด้านอาหารของประเทศไทย ยุทธศาสตร์อาหารศึกษา คือ ประชาชนไทยมีภาวะทุพโภชนาการทั้งขาดและเกินลดลง โดยมีการกำหนดตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่ 2 ของเป้าหมายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน หรือ SDGs ในเรื่องการยุติความหิวโหย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 20 พฤษภาคม 2565