นำเข้า LNG คืบหน้ามีผู้ยื่นเสนอเข้าแข่งขัน 12 ราย คาดนำเข้า LNG ล๊อตแรกได้ ก.ย. นี้

กระทรวงพลังงานให้ กฟผ. นำร่องเปิดเสรี เป็นผู้จัดหาและนำเข้า LNG รายใหม่ สำหรับนำไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันมีผู้ยื่นเสนอ 12 บริษัท คาดว่าจะลงนามสัญญาซื้อขายภายใน มิ.ย. 62 และส่งมอบ LNG ล็อตแรกได้ภายใน ก.ย. 62

วันที่ (22 เมษายน 2562) ดร.ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธาน  การแถลงข่าวความคืบหน้าการจัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) โดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ กฟผ. และนายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. ร่วมแถลง ณ ห้องประชุม 201 อาคาร ท.100 สำนักงานใหญ่ กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี

นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 เห็นชอบแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ โดยมอบหมายให้ กฟผ. นำร่องเป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)  จำนวนไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2562 และมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ที่มีมติให้ราคา LNG ที่ กฟผ. จัดหาต้องไม่สูงกว่าราคา LNG ต่ำสุดตามสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศไทยที่มีอยู่  ในปัจจุบัน ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าและเพิ่มปริมาณก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอกับการผลิตไฟฟ้า  โดย กฟผ. ได้เปิดให้มีการยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาจากบริษัทที่มีคุณสมบัติผ่านเกณฑ์เบื้องต้น ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 18 เมษายน 2562 และมีผู้ยื่นข้อเสนอการแข่งขันด้านราคาเข้ามาทั้งหมด 12 ราย จากบริษัทที่ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจำนวนทั้งสิ้น 34 ราย ทั้งนี้ คาดว่าจะสามารถดำเนินการลงนามสัญญาซื้อขาย LNG กับบริษัทคู่ค้าได้ภายในเดือน มิถุนายน 2562 และจะเริ่มส่งมอบ LNG ล็อตแรกได้ในเดือนกันยายน 2562

นายธวัชชัย จักรไพศาล รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง กฟผ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมในการส่ง LNG ไปยังโรงไฟฟ้า กฟผ. ได้ทำสัญญาใช้ท่อส่งก๊าซของ ปตท. และสัญญาใช้สถานี LNG มาบตาพุดส่วนขยายเพิ่มเติมของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เพื่อจัดส่ง LNG สำหรับผลิตไฟฟ้าไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่ภาคกลาง

 

เงื่อนไขการคัดเลือกผู้ค้าช่วง REOI 

1.ประสบการณ์ ส่ง LNG ไม่น้อยกว่า 127,000 ลบ.ม. อย่างน้อย 2 cargoes ในช่วง 12 เดือนก่อน EOI

  1. มี credit rating BBB- จาก s&p หรือ A3 moody’s หรือเทียบเท่า หรือเป็นรัฐวิสาหกิจเจ้าของโรงงานผลิตหรือดำเนินธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
  2. คุณภาพ LNG เป็นไปตามที่ กฟผ. กำหนด

ผู้ยื่นเสนอเข้าแข่งขันจำนวน 12 ราย มีดังนี้

  1. Chevron U.S.A lnc
  2. Total Gas & Power Asia Private Limited
  3. Marubeni Corporation
  4. Emirates National Oil Company (Singapore) Private Limited
  5. Qatargas
  6. JERA Co. lnc.
  7. Pavilion Gas Pte.Ltd.
  8. PETRONAS LNG Limited
  9. PTT Public Company Limited
  10. Shell Eastern Trading (Pte) Lid.
  11. BP Singapore Pte. Limited
  12. Vitol Asia Pte. Ltd.