กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดอบรมหลักสูตรด้านความปลอดภัยในโรงพยาบาล ให้ความรู้เจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลนำไปปฏิบัติงานได้จริง เพื่อให้ผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ และประชาชนได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการในโรงพยาบาล และสามารถเปิดให้บริการได้อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
นายแพทย์ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าโรงพยาบาลเป็นสถานที่ในการบริการผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก สิ่งสำคัญที่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนในการให้บริการกับผู้ป่วย นอกจากเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต้องได้มาตรฐานพร้อมใช้งานตลอดเวลาแล้ว ระบบความปลอดภัยต้องไม่ก่อให้เกิดเชื้อโรคและมีการควบคุมแพร่กระจายอย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบไฟฟ้า การควบคุมอากาศที่ดี มีการจัดการที่ดีเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล และประชาชนที่มารับบริการได้รับความปลอดภัย ซึ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญในการดูแลความปลอดภัยในโรงพยาบาลจะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมความปลอดภัย ที่ส่งเสริมให้ระบบการควบคุมความปลอดภัยในโรงพยาบาลมีมาตรฐานสามารถให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านนายปริญญา คุ้มตระกูล ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้เล็งเห็นความสำคัญในความปลอดภัยด้านวิศวกรรมในโรงพยาบาลจึงได้มีการจัดอบรม สร้างครู ก. หลักสูตร เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในโรงพยาบาล ตามมาตรฐานระบบบริการสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เรื่อง “เทคนิคชั้นสูงในการตรวจประเมิน ระบบวิศวกรรมความปลอดภัยในโรงพยาบาล” ระหว่างวันที่ 22 – 24 เมษายน 2562 ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ให้กับผู้เยี่ยมประเมินมาตรฐานระบบบริการสุขภาพด้านความปลอดภัยของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบความปลอดภัยในโรงพยาบาลภาครัฐ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดหน่วยงานอื่นๆ จำนวนมากกว่า 450 คน เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ และตรวจสอบความถูกต้องของระบบงานที่เกี่ยวกับความปลอดภัยในโรงพยาบาลได้ โดยมีการอบรมเนื้อหาหลักสูตรที่ต้องนำไปใช้ เช่น การบริหารจัดการความปลอดภัยในโรงพยาบาล สถานที่อับอากาศ รังสี ระบบบำบัดน้ำเสีย มูลฝอยติดเชื้อ ระบบก๊าซทางการแพทย์ ก๊าซหุงต้ม ระบบไฟฟ้าแรงสูง การป้องกันอัคคีภัย ระบบป้องกันฟ้าผ่า ระบบลิฟต์โดยสาร ระบบปรับและระบายอากาศ ห้องแยกโรค จุดพ่นยา ห้องตรวจแยกโรคห้อง OR ห้อง ER ห้อง ICU เป็นต้น
ทั้งนี้ การอบรมดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล ทำให้มีความรู้ สามารถนำกลับไปถ่ายทอดและใช้ในการวางระบบป้องกันระบบความปลอดภัยในโรงพยาบาล เพื่อประชาชนได้รับความปลอดภัยในการใช้บริการในโรงพยาบาล และมีการควบคุมความปลอดภัยด้านวิศวกรรมการแพทย์ให้เป็นมาตรฐานสากล ทั้งยังส่งผลถึงภาพลักษณ์ที่ดีต่อสถานพยาบาลของประเทศไทย ในการเป็นอุตสาหกรรมบริการสุขภาพแบบครบวงจร อีกด้วย