วธ.เดินหน้าดึงทุกภาคส่วนใช้พลังวัฒนธรรมพลิกโฉมเศรษฐกิจชาติ ขับเคลื่อน“Soft Power” ส่งเสริม 5F สร้างรายได้-ภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศ

วธ.เดินหน้าดึงทุกภาคส่วนใช้พลังวัฒนธรรมพลิกโฉมเศรษฐกิจชาติ  ขับเคลื่อน“Soft Power” ส่งเสริม 5F สร้างรายได้-ภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศ จัดนิทรรศการโชว์ผลงาน 19-20 พ.ค.นี้ ณ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)และหน่วยงานต่างๆ จัดนิทรรศการแสดงผลงานการขับเคลื่อนงานวัฒนธรรม ในงานประชุมเสวนา“ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม” ในวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565 ณ ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน โดยมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน  ตามแผนยุทธษาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

วธ.ได้ปรับบทบาทและภารกิจเป็นกระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ ภายใต้แนวคิด“ให้วัฒนธรรม ทำดี ทำงาน ทำเงิน” ส่งเสริมการใช้ทุนทางวัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจฐานราก สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชนและประเทศ เพื่อให้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือยกระดับเศรษฐกิจและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ภายในงานวธ.ได้จัดนิทรรศการแสดงผลงานในหัวข้อ “วัฒนธรรม คือ พลังแห่งอนาคต (Culture Empowers the Future)” มุ่งส่งเสริมการพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญา สู่ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการทางวัฒนธรรม พร้อมจัดแสดงผลงานสำคัญ อาทิ ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมชุมชนไทย (CCPOT) พรีเมียม อุทยานประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง และแอปพลิเคชันเที่ยวเท่ๆ เสน่ห์เมืองไทย อาหารไทย ผ้าไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ภาพยนตร์ ละคร เกม และแอนิเมชัน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า นิทรรศการแสดงผลงานของวธ. แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1) “วัฒนธรรม คือ พลังแห่งอนาคต : ทุนทางวัฒนธรรม สืบสาน สร้างสรรค์ สู่ Soft Power” เล่าเรื่องนโยบาย วิสัยทัศน์วธ. ในการใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุน Soft Power ความเป็นไทย สร้างรายได้ สร้างภาพลักษณ์และเกียรติภูมิให้ประเทศไทย ปัจจุบันประเทศมีรายได้จากสินค้าวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์กว่า 1.45 ล้านล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 8.93 ของ GDP  ซึ่งในปี 2564 ไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมคอนเทนต์ อาทิ ภาพยนตร์ ละคร แอนิเมชัน เกม คาแรคเตอร์ กว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน รายได้จากการส่งออกอาหารไทยกว่า 1.1 พันล้านบาท รายได้จากผ้าไทยกว่า 8.5 พันล้านบาท

และจากผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) และผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย (CCPOT) กว่า 697 ล้านบาทและรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม “เที่ยวชุมชน ยลวิถี”กว่า 768 ล้านบาท รวมทั้งสำนักข่าว U.S. News ได้จัดอันดับประเทศที่มีมรดกวัฒนธรรมที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2021 จากทั้งหมด 78 ประเทศ ซึ่งไทยอยู่อันดับ 7 ของโลก

2) “5F สู่เป้าหมายเศรษฐกิจวัฒนธรรม” แสดงผลงานการส่งเสริมสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่มีศักยภาพของไทยจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ 5F ประกอบด้วยอาหารไทย (Food) ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) มวยไทยและศิลปะการป้องกันตัวของไทย (Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival)  โดยจัดแสดงชิ้นงานไฮไลท์คือ“จากแรงบันดาลใจสู่ผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT)” และ “มรดกภูมิปัญญา ต้นน้ำแห่งคุณค่าและมูลค่า ในรูปแบบดิจิทัล” 

3) “ก้าวต่อไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจวัฒนธรรม” โดยมุ่งส่งเสริมการใช้วัฒนธรรมเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไทยด้วยอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม และพัฒนาพื้นที่หอศิลป์แห่งชาติและศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เป็นศูนย์สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมระดับโลก พร้อมจัดทำแผนขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติวัฒนธรรม เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (2566-2570)

นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า การจัดนิทรรศการแสดงผลงานของวธ.มุ่งให้ทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน เครือข่ายวัฒนธรรม ชุมชนและประชาชนให้ความสำคัญและร่วมมือกันนำวัฒนธรรมมาพัฒนาประเทศในทุกมิติโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ การค้า  อีกทั้งร่วมกันผลักดันให้เป็นวาระสำคัญของชาติเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยสู่เศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วน GDP จากสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมร้อยละ 15 ภายในปี 2570  และให้ไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่มีมูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมสูงสุดในตลาดโลก  รวมทั้งสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวและการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญและทรงอิทธิพลของโลก