รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสู่วิถีชีวิตใหม่ตามหลักสุขศึกษา รักษาระยะห่างทางกาย ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในแนวทางปฏิบัติเดียวกัน พร้อมเน้นย้ำมาตรการ VUCA เพื่ออยู่ร่วมกับโรคโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัยและยั่งยืน
วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่อาคารสาธารณสุขวิศิษฏ์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กทม. ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการสุขศึกษาแห่งชาติ ครั้งที่ 20 ภายใต้แนวคิด “ล้มหรือรุก : ปรับพฤติกรรมสู่ชีวิตใหม่” พร้อมปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “พฤติกรรมสุขภาพวิถีชีวิตใหม่” และมอบโล่นักสุขศึกษาดีเด่นปี 2563 และ 2564
โดย ดร.สาธิตกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญกับการพัฒนาสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะด้านพฤติกรรมสุขภาพ จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ เกี่ยวกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนไทยในยุคโควิด 19 จำนวน 1,218 คน โดยสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต พบว่า พฤติกรรมของประชาชนที่ “เปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง”
อันดับ 1 คือ การไปร่วมงานสังสรรค์ งานมงคล งานอวมงคล 90.50%
อันดับ 2 การเดินทางท่องเที่ยว
อันดับ 3 การรับประทานอาหารนอกบ้าน
ส่วนพฤติกรรมของประชาชนที่ “ไม่เปลี่ยนแปลงเลย” คือ การดื่มแอลกอฮอล/สูบบุหรี่ 55.48% และพฤติกรรมของประชาชนที่ “เกิดขึ้นใหม่” คือ การสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา/เลือกซื้อหน้ากากหลายแบบมากขึ้น 90.12% นอกจากนี้ ความพึงพอใจต่อพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงในยุคโควิด 19 ค่อนข้างพึงพอใจถึง 35.48% ไม่ค่อยพึงพอใจ 27.79%
ดร.สาธิต กล่าวต่อว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพสู่วิถีชีวิตใหม่ตามหลักการสุขศึกษา รักษาระยะห่างทางกาย ดูแลสุขภาพและความปลอดภัยในแนวทางปฏิบัติเดียวกัน จะทำให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโรคโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น จึงร่วมกับทุกภาคส่วนลดการระบาดและอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด 19 ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การขนส่ง การเดินทาง การใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัส เป็นต้น
รวมถึงย้ำมาตรการ “VUCA” V-Vaccine เร่งรัดการฉีดวัคซีน, U-Universal Prevention ใช้มาตรการป้องกันตนเองสูงสุด, C-COVID Free Setting สถานประกอบการใช้มาตรการพื้นที่ปลอดโควิด 19 และ A-ATK ใช้ชุดตรวจคัดกรองเมื่อมีความเสี่ยงเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับทุกคน นอกจากนี้ ประชาชนควรมีความรู้ที่ถูกต้อง โดยรับข้อมูลข่าวสารจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้ ไม่แชร์ข้อมูลที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ เพื่อสร้างความเข้าใจ ความเชื่อ ทัศนคติ ค่านิยม มาตรการในการป้องการแพร่ระบาด และการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง เกิดการปรับพฤติกรรมสุขภาพสู่ชีวิตใหม่ที่ยั่งยืนต่อไป
****************************************** 19 พฤษภาคม 2565