รมว.แรงงาน ร่วมหารือประธาน IM Japan เพิ่มยอดจัดส่งแรงงานไทยไปฝึกงานเทคนิคที่ญี่ปุ่น

วันที่  (22 เมษายน 2562) เวลา 11.00 น. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้การต้อนรับ นายเคียวอิ ยานากิซาวา (Mr. Kyoei Yanagisawa) ประธานองค์กรพัฒนาฝีมือแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น (International Manpower Development Organization : IM Japan) ในโอกาส เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกระทรวงแรงงานกับ IM Japan ในการประชาสัมพันธ์โครงการจัดส่งผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น ณ ห้องรับรองรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชั้น 6 กระทรวงแรงงาน

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน และองค์กรพัฒนาแรงงานระดับนานาชาติ ประเทศญี่ปุ่น (International Manpower Development Organization, Japan : IM Japan) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการจัดส่งผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทยไปฝึกงานในประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2542 และมีการแก้ไขบันทึกความเข้าใจเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายประเทศญี่ปุ่นโดยมีการลงนามฉบับล่าสุด เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนา สถานประกอบการและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี และการแลกเปลี่ยนแปลงทางเทคนิคให้กับผู้ฝึกงานเทคนิคคนไทย โดยกรมการจัดหางานจะรับสมัครและคัดเลือกผู้เข้ารับการฝึกอบรม ฝึกอบรมภาษาญี่ปุ่นและวัฒนธรรมก่อนเดินทางเป็นระยะเวลา 4 เดือน ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 14 ปทุมธานี และจัดส่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจากประเทศไทยไปฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่น เป็นประเภทงานอุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง มีตำแหน่งงาน เช่น ช่างเชื่อม งานหล่อโลหะ งานปั้มขึ้นรูปโลหะ งานหล่อพลาสติก เครื่องจักร งานกลึง งานก่อสร้าง เป็นต้น โดย IM รับผิดชอบค่าโดยสารเครื่องบินไป – กลับ (ไทย – ญี่ปุ่น – ไทย) และค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมก่อนเดินทางไปฝึกงานเทคนิคในประเทศญี่ปุ่นแบบอยู่ประจำ จำนวนคนละ 100,000 เยน (ประมาณ 28,500 บาท) โดยผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะต้องผ่านการทดสอบตามเกณฑ์ที่กำหนด ส่วนผู้ฝึกงานเทคนิครับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนตัว เช่น ค่าธรรมเนียม ทำหนังสือเดินทาง ค่าตรวจสุขภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลาฝึกงานจะได้รับเบี้ยเลี้ยง/ค่าจ้างตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น กล่าวคือ เดือนแรกผู้ฝึกงานเทคนิคได้รับเบี้ยเลี้ยง 80,000 เยน ประมาณ 23,000 บาท เดือนที่ 2 ถึงเดือนที่ 36 ผู้ฝึกงานเทคนิคภายใต้สัญญาจ้างตามกฎหมายแรงงานของญี่ปุ่นได้รับค่าจ้างไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด โดยเฉลี่ยเดือนละ 150,000 เยน หรือประมาณ 43,000 บาท แต่ต้องรับผิดชอบค่าที่พัก ค่าอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าประกันสังคมและค่าภาษีเงินได้เอง และเมื่อฝึกงานเทคนิคในญี่ปุ่นครบ 3 ปี ได้รับเงินสนับสนุนการประกอบอาชีพ 600,000 เยน (ประมาณ 171,000 บาท) ครบ 5 ปี ได้รับเงิน 1,000,000 เยน (ประมาณ 285,000 บาท) (อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 18 เมษายน 2562) และยังมีสิทธิประโยชน์ที่ได้รับในญี่ปุ่นอีกคือ 1. ประกันสุขภาพ 2. ประกันบำนาญ (เงินชราภาพ) 3. ประกันการมีงานทำ 4. ประกันอุบัติเหตุจาก การทำงาน(นายจ้างจ่าย) 5. ประกันหมู่ (IMจ่าย) จะได้รับการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลและกรณีเสียชีวิต ตรวจสุขภาพเมื่อเข้าทำงาน และหลังการ ทำงานปีละ 1 ครั้ง

นอกจากนี้กรมการจัดหางานยังได้ร่วมกับ IM Japan เชิญผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยเข้ารับสมัคร/สัมภาษณ์ผู้ฝึกงานที่ประสงค์จะทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นอีกด้วย ซึ่งตั้งแต่ปี 2543-2562 มีการจัดส่งคนไทยไปฝึกงานเทคนิคแล้วจำนวน 4,779 คน (ชาย 4,485 คน หญิง 294 คน) รมว.แรงงาน กล่าว

ในโอกาสนี้ ผู้สำเร็จการฝึกปฏิบัติงานเทคนิคฯ ที่ประเทศญี่ปุ่น ผ่านองค์กร IM Japan ที่นำความรู้ที่ได้จากการฝึกงานมาต่อยอดทำงานในประเทศไทยจนประสบความสำเร็จเป็นเจ้าของกิจการและผู้บริหารใน สถานประกอบการต่างๆ จำนวน 10 คน ได้ร่วมเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย