กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนฟันปลอมเถื่อนมีจุกยางที่เพดานปากมีอันตราย หากทำโดยบุคคลที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ เสี่ยงเพดานปากทะลุ
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อ “หมอฟันชื่อ นะTM” ทวีตภาพและข้อความเตือนไปยังคนไข้ให้ระวังฟันปลอมเถื่อนแบบมีจุกยางที่เพดานปากนั้น ฟันปลอมลักษณะดังกล่าวมักพบในฟันปลอมทั้งปากชนิดถอดได้ที่ทำโดยบุคคลที่ไม่ใช่ทันตแพทย์ ทำให้ไม่สามารถทำฟันปลอมให้พอดีกับกระดูกขากรรไกรของคนไข้ได้จึงจำเป็นต้องติดตัวดูดที่ทำจากยางที่ฐานฟันปลอมบน เพื่อใช้ดูดกับเพดานปากไม่ให้ฟันปลอมบนหลวมหลุด ซึ่งมีผลให้เพดานปากเกิดรอยแดงจากตัวดูด หากใส่ฟันปลอมแบบนี้เป็นระยะเวลานานแรงดันจากตัวดูดจะไปกดเหงือกทำให้เลือดไม่สามารถมาเลี้ยงบริเวณดังกล่าวได้ จึงทำให้เกิดการละลายของกระดูกเพดานปากส่งผลให้เพดานปากทะลุเป็นรูใหญ่เชื่อมระหว่างช่องปากและโพรงจมูก ซึ่งคนไข้จะมีอาการพูดไม่ชัด เวลาพูดมีลมออกจมูก หรือเกิดอาการสำลักเวลาดื่มน้ำและรับประทานอาหาร หรือคนไข้บางรายอาจเกิดแผลหรือก้อนเนื้อในภายหลังได้
“ทั้งนี้ ปัจจุบันมีผู้รับทำฟันปลอมเถื่อนจำนวนมาก ทั้งที่เปิดเป็นร้านที่มีสถานที่ตั้งแน่นอน หรือหิ้วกระเป๋าเครื่องมือไปทำตามบ้าน โดยอ้างว่าใช้วัสดุคุณภาพเดียวกันกับทันตแพทย์แต่ในความเป็นจริง ไม่สามารถพิสูจน์ หรือทราบแน่ชัดว่าวัสดุเหล่านี้ได้มาตรฐานหรือเป็นจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่ มีความสะอาดปลอดภัยหรือไม่ อาจจะเป็นวัสดุที่หมดอายุแล้ว วัสดุอันตราย หรือไม่ได้มาตรฐาน เมื่ออยู่ในช่องปากหรือกลืนลงไป ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองหรืออาจจะเป็นสารก่อมะเร็งได้ นอกจากนี้การทำฟันปลอมเถื่อนแบบยึดติดกับฟันธรรมชาติด้วยลวดผูกติดแน่นไม่ต้องถอดออก ทำให้ไม่สามารถทำความสะอาดฟันปลอมหรือฟันธรรมชาติซี่ข้างเคียงได้อย่างทั่วถึง กลายเป็นแหล่งสะสมคราบอาหารและเชื้อโรคใต้ฟันปลอม ทำให้เกิดอาการเหงือกอักเสบ ช่องปากมีกลิ่นเหม็นเน่า และยังส่งผลให้ฟันธรรมชาติที่โดนผูกติด เกิดการโยกหรือผุไปด้วย เมื่อคนไข้มาพบทันตแพทย์ก็อาจจะไม่สามารถเก็บรักษาฟันซี่ที่เคยแข็งแรงไว้ได้ ทำให้ต้องถอนฟันซี่นั้นออกไป ดังนั้น ในกรณีผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มที่ใส่ฟันเทียมมากกว่ากลุ่มอื่น จึงต้องให้ความระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องใส่ฟันเทียมควรปรึกษาทันตแพทย์หรือเข้ารับบริการในคลินิคที่ได้มาตรฐานและมีทันตแพทย์เป็นผู้ให้การรักษาเท่านั้น” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว
ด้านทันตแพทย์หญิงปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำฟันปลอมเป็นการทำขึ้นเพื่อทดแทนการสูญเสียฟันธรรมชาติที่หายไป โดยฐานที่ใช้ยึดกับกระดูกขากรรไกรในปากที่ทำจากอะคริลิกหรือโลหะ สามารถแบ่งฟันปลอมออกเป็น 2 ชนิด คือ ฟันปลอมทั้งปากที่ทำขึ้นเพื่อทดแทนฟันธรรมชาติ ในกรณีที่ไม่มีฟันเหลืออยู่เลย และฟันปลอมบางส่วนที่ทำขึ้นทดแทนฟันบางซี่ที่หายไป และเป็นการใส่เพื่อช่วยไม่ให้ฟันซี่ที่เหลือล้มเปลี่ยนตำแหน่ง ซึ่งประโยชน์ที่สำคัญของฟันปลอม คือ ช่วยในการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้รับประทานอาหารได้ดีขึ้น รวมถึงยังช่วยให้เกิดความมั่นใจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ฟันปลอมต้องทำโดยทันตแพทย์ในสถานพยาบาลที่ได้รับใบอนุญาตอย่างถูกต้องเท่านั้น และควรมีการเตรียมช่องปากก่อนทำฟันปลอม เช่น อุดฟันซี่ที่ผุ ขูดหินปูน หรือถอนฟันซี่ที่ไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ นอกจากนี้วัสดุเครื่องมือที่ใช้ต้องได้มาตรฐาน มีการฆ่าเชื้ออย่างถูกต้อง คนไข้ควรได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลช่องปากและทำความสะอาดฟันปลอมอย่างถูกวิธี
***
ศูนย์สื่อสารสาธารณะ