นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบยุทธศาสตร์ของชาติ 20 ปี ซึ่งมียุทธศาสตร์ที่สำคัญในเรื่องการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ให้กับเศรษฐกิจไทย โดยในภาคการเกษตรมีแนวทางที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในด้านการผลิตในภาคเกษตร คือ “เกษตรอัจฉริยะ” ในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางในการสนับสนุนการทำเกษตรอัจฉริยะ โดยการพัฒนาทรัพยากรบุคคลที่จะมาช่วยพัฒนาและสนับสนุนให้ลูกหลานเกษตรกรที่ถือเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ เข้ามาช่วยเชื่อมต่อระหว่างองค์ความรู้สมัยใหม่กับเกษตรกร พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาช่วยในเรื่องการเพาะปลูกเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะขึ้น เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2561 มีหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาสู่การเกษตรอัจฉริยะในอนาคต เน้นการดำเนินงานในรูปแบบประชารัฐ ตลอดจนการบูรณาการความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานในสังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงพาณิชย์ อาทิ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ รวมถึงบริษัทเอกชนต่าง ๆ
ทั้งนี้ จากการดำเนินงานขับเคลื่อนของคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ เพื่อจัดทำแปลงเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะที่เหมาะสมในกระบวนการการผลิตพืช ได้มีการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อนำเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ในแปลงเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นดำเนินการจัดทำแปลงเรียนรู้การผลิตพืช 6 ชนิด ประกอบด้วย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และสับปะรด ในพื้นที่แปลงใหญ่ โดยมีพื้นที่ทดสอบรูปแบบละไม่น้อยกว่า 1๐ ไร่ (รวม 2๐ ไร่/พืช) รวมถึงการปลูกมะเขือเทศในโรงเรือนอัจฉริยะเพื่อเป็นต้นแบบให้เกษตรกรสามารถมาเรียนรู้เพื่อนำไปขยายผลในแปลงของตนเองได้
ดร.วราภรณ์ พรหมพจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมาคณะกรรมการได้มีการขับเคลื่อนโครงการอย่างจริงจังโดยมีการประชุมเตรียมความพร้อมหารือความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำ MOU ความร่วมมือกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISDA และ Hokkaido University ประเทศญี่ปุ่น โดยได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะจากภาคเอกชนของประเทศญี่ปุ่น ผู้ซึ่งนำผลงานวิจัยจาก Hokkaido University ไปขยายผลสู่การปฏิบัติมาช่วยสนับสนุนการทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะในประเทศไทย ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ได้เดินทางประสานความร่วมมือ ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยหารือกับหน่วยงานรัฐมหาวิทยาลัยเกษตรอันฮุย มหาวิทยาลัยซูโจว และภาคเอกชนที่มีความชำนาญด้านเกษตรอัจฉริยะ โดยยินดีสนับสนุนการทำแปลงเรียนรู้เกษตรอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยี IoT และ Sensors ทางการเกษตร เพื่อนำมาทดสอบใช้ในแปลงเกษตรกร โรงเรือนมะเขือเทศ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ จึงกำหนดจัดการสัมมนาเกษตรอัจฉริยะ ในวันที่ 24 เมษายน 2562 โดยมี นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน วัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับการเกษตรอัจฉริยะที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ตลอดแลกเปลี่ยนประสบการในการทำการเกษตรอัจฉริยะ ซึ่งมีหัวข้อสัมมนาที่น่าสนใจ อาทิ “การขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย” “เซนเซอร์ทางการเกษตร” เป็นต้น สำหรับภาคบ่ายมีการเสวนาเพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการพัฒนาเกษตรอัจฉริยะของประเทศไทย ระหว่าง ผู้บริหารกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชน และ Smart Farmer อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การจัดการฐานข้อมูล (Big Data) ด้านเกษตรอัจฉริยะ ระหว่างวันที่ 25 – 26 เมษายน 2562 โดยมี นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน วัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ด้านการพัฒนา Bug Data รวมถึงการระดมความคิดจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนายกร่าง Big Data Platform ด้านการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อการขับเคลื่อนการเกษตรอัจฉริยะของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต่อไป ตลอดจนยังมีนิทรรศการจัดแสดงเทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะโดยหน่วยงาน บริษัทเอกชน และผู้ประกอบการ Start up ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ระบบน้ำอัจฉริยะ ระบบจ่ายน้ำและปุ๋ยอัตโนมัติ ระบบเซ็นเซอร์ทางการเกษตร ระบบตรวจความต้องการอาหารและพืช ระบบตรวจสภาพแวดล้อม ระบบเครื่องดักจับแมลง ระบบโรงเรือนอัจฉริยะ แอปพลิเคชั่นบริการด้านการเกษตร โดรนเพื่อการเกษตร และ Plant Factory system เป็นต้น