กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ได้แก่ กระเจี๊ยบ, กระเทียม, มะรุม, ใบหม่อน, บัวบก, ย่านาง, ขิง และตะไคร้ นำมาปรุงเป็นเมนูอาหารดูแลผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง พร้อมแนะ ชาชงกระเจี๊ยบ และ ชาชงหญ้าหนวดแมว ยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ ทางเลือกในการลดความดันโลหิต เนื่องในวันความดันโลหิตสูงโลก
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า วันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) โรคความดันโลหิตสูง เป็น 1 ใน 4 ของโรคที่ไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable diseases : NCD’s) ที่เป็นปัญหาทางการสาธารณสุข จากข้อมูลระบบคลังข้อมูลสุขภาพ (Health Data Center : HDC) กระทรวงสาธารณสุขไทย พบว่า ในปีงบประมาณ 2565 มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ จำนวน 473,354 ราย พบมากในเขตสุขภาพที่ 9 จำนวน 60,068 ราย เขตสุขภาพที่ 1 จำนวน 50,777 ราย และเขตสุขภาพที่ 6 จำนวน 47,392 ราย ตามลำดับ
ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ความดันโลหิตของคนปกติเท่ากับ 90/60 มม.ปรอท -119/79 มม.ปรอท ส่วนผู้ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงจะมีระดับความดันโลหิตตั้งแต่ 140/90 มม.ปรอทขึ้นไป และสาเหตุของการเกิดโรค ที่สำคัญ คือ พฤติกรรมสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารรสเค็มจัด หวานจัด สูบบุหรี่ ติดสุรา และขาดการออกกำลังกาย ซึ่งหากชะล่าใจ ปล่อยให้ความดันโลหิตสูงนานๆ อาจก่อให้เกิดโรคอื่นร่วมด้วย เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต หรืออาจเสียชีวิตจากเส้นเลือดในสมองแตกได้
องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและภูมิปัญญาพื้นบ้าน มีการนำเอาพืชผักสมุนไพรในท้องถิ่นมาปรุงเป็นเมนูอาหารเพื่อดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เช่น กระเจี๊ยบ, กระเทียม, มะรุม, ใบหม่อน, บัวบก, ย่านาง, ขิง และตะไคร้ ซึ่งพืชผักสมุนไพรดังกล่าว มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนฤทธิ์ลดความดันโลหิต และสามารถมั่นใจได้ถึงความปลอดภัยในการนำมาบริโภค เพราะเป็นสิ่งที่เรานำมารับประทานเป็นอาหารกันอยู่แล้ว
สำหรับเมนูอาหารที่แนะนำ ได้แก่ แกงส้มมะรุม, ไก่ต้มใบหม่อน, ไก่ผักขิง, ยำตะไคร้ และแกงเห็ดรวม เป็นต้น
ส่วนน้ำสมุนไพรที่แนะนำ เช่น น้ำขิง, น้ำกระเจี๊ยบ, น้ำใบบัวบก, นำใบย่านาง และชาตะไคร้ ฯ
สำหรับยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีสรรพคุณขับปัสสาวะ ลดความดันโลหิต คือ ยาหญ้าหนวดแมว และ ยากระเจี๊ยบแดง ซึ่งเป็นรูปแบบชาชง แต่มีข้อควรระวัง คือ ไม่ควรใช้ในผู้ที่มีการทำงานของหัวใจและไตบกพร่อง เนื่องจากมีแร่ธาตุโพแทสเซียมสูง โดยยาดังกล่าวสามารถใช้สิทธิเบิกจ่ายได้ที่คลินิกการแพทย์แผนไทยในสถานพยาบาลของรัฐตามภูมิลำเนา หรือสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา และร้านสะดวกซื้อ ทั่วไป
นายแพทย์ขวัญชัย กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากเมนูอาหาร เครื่องดื่มจากพืชสมุนไพรพื้นบ้าน และยาสมุนไพรที่ช่วยลดความดันโลหิตที่แนะนำแล้ว เราก็ควรที่จะออกกำลังกายให้สม่ำเสมอควบคู่ไปด้วย พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค เพียงเท่านี้ชีวิตของเราก็จะห่างไกลจากโรคความดันโลหิตสูงได้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยหรือการใช้ยาสมุนไพรในการรักษาโรค สามารถติดต่อได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก หมายเลขโทรศัพท์ 0 2149 5678 หรือช่องทางออนไลน์ที่ FACEBOOK กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.facebook.com/dtam.moph และ line @DTAM
……………………………………………. 17 พฤษภาคม 2565 ……………………………………………….