กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้ปกครองที่มีเด็กเล็กควรดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กคลาดสายตาหรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง แนะควรจัดทำพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย หรือหาที่กั้นคอกสำหรับเด็ก เผยข้อมูลในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบเด็กเล็กจมน้ำเสียชีวิตเกือบ 2 พันราย
วันที่ (21 เมษายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากข้อมูลมรณบัตรของกองนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) พบเด็กเล็กอายุแรกเกิด – 2 ปี จมน้ำเสียชีวิต 1,890 ราย เฉลี่ยปีละ 189 ราย หรือในทุกเดือนจะพบว่ามีเด็กเล็กอายุแรกเกิด – 2 ปี จมน้ำถึง 16 ราย โดยมักจะพบการจมน้ำเสียชีวิตภายในบ้านหรือรอบๆบ้านที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ
ทั้งนี้ แหล่งน้ำเสี่ยงที่พบเด็กเล็กกลุ่มนี้จมน้ำมากที่สุด คือ ในภาชนะกักเก็บน้ำภายในบ้าน เช่น ถัง กะละมัง กระติกน้ำ ตุ่ม โอ่ง ซึ่งสาเหตุของการจมน้ำในเด็กกลุ่มนี้มักเกิดจาก 1.ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็กปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังในช่วงเวลาที่ทำกิจกรรมบางอย่างเพียงระยะเวลาสั้นๆ เช่น เข้าห้องน้ำ คุยโทรศัพท์ หรือทำกับข้าว เป็นต้น 2.ไม่มีการจัดการแหล่งน้ำเสี่ยงที่อยู่ภายในบ้าน หรือไม่คิดว่าน้ำที่อยู่ในถัง กะละมัง ที่มีระดับน้ำสูงเพียง 1-2 นิ้ว จะสามารถทำให้เด็กจมน้ำได้ เนื่องจากเด็กเล็กที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไปเริ่มที่จะคืบคลานได้เร็ว จึงมีความเสี่ยงต่อการจมน้ำจากแหล่งน้ำภายในบ้านหรือรอบๆบ้าน และเด็กอายุ 1 ปีจะเริ่มเดินได้ แต่การทรงตัวยังไม่ดีจึงทำให้ล้มได้ง่าย ในท่าที่ศีรษะทิ่มลงและไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค จึงมีนโยบายให้ทุกครัวเรือนที่มีเด็กเล็กอายุ แรกเกิด – 2 ปี มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยหรือคอกกั้นสำหรับเด็ก ตามที่องค์การอนามัยโลกให้ข้อเสนอแนะว่าเป็นมาตรการป้องกันการจมน้ำที่มีประสิทธิภาพ โดยสามารถทำจากวัสดุที่หาได้ง่ายๆ ในท้องถิ่น ไม่ควรใหญ่เทอะทะหรือมีน้ำหนักมากเพราะจะเคลื่อนย้ายลำบาก และก็ไม่ควรมีน้ำหนักเบาจนเกินไป เพราะอาจโคลงเคลงหรือทนรับน้ำหนักของเด็กไม่ได้ โดยให้มีความสูงอย่างน้อย 51 เซนติเมตรขึ้นไป คอกกั้นแบบมีซี่ราวต้องมีช่องห่างไม่เกิน 6 เซนติเมตร และควรเป็นแนวตั้ง อย่างไรก็ตามผู้ปกครองไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังในบริเวณนี้ตลอดเวลา อาจจะปล่อยไว้เพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ที่ทำกับข้าวหรือเข้าห้องน้ำ และพื้นที่ดังกล่าวไม่ควรมีภาชนะกักเก็บน้ำ หรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำเสี่ยง เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้
ข้อแนะนำในการป้องกันเด็กจมน้ำสำหรับผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลเด็ก คือ 1.เทน้ำออกจากภาชนะทุกครั้งหลังใช้งาน 2.กั้นคอก จัดหาพื้นที่เล่นที่ปลอดภัยให้แก่เด็ก มีรั้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน และอยู่ห่างแหล่งน้ำเสี่ยง 3.ปิดฝาภาชนะกักเก็บน้ำทุกครั้งหลังใช้งาน 4.เฝ้าดูเด็กตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด (ในระยะที่มือเอื้อมถึง) และไม่ควรปล่อยให้เด็กคลาดสายตา ทั้งนี้ หากปล่อยให้เด็กจมน้ำนาน 6 – 10 นาที จะโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 56 ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
******************************************************
ข้อมูลจาก : สำนักโรคไม่ติดต่อ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค