ไทย- ลาว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านสื่อภาพยนตร์ 2 ฝั่งโขง ร่วมพัฒนาบุคลากร นักศึกษา ประชาชน ป้อนสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผ่านโครงการ “เมืองหนังอีสาน สู่เมืองหนังโลก”

ไทย- ลาว แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ผ่านสื่อภาพยนตร์ 2 ฝั่งโขง ร่วมพัฒนาบุคลากร นักศึกษา ประชาชน ป้อนสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ผ่านโครงการ “เมืองหนังอีสาน สู่เมืองหนังโลก” ฯ เริ่ม 13 – 18 พ.ค. 2565 นี้

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยสู่ระดับนานาชาติ เช่น งานฝีมือและหัตถกรรม ศิลปะการแสดง อาหารไทย การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ตามนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนตร์ (Film) และนโยบายส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมกับต่างประเทศ

ล่าสุดวธ.ได้ร่วมสนับสนุนการจัดโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การผลิตภาพยนตร์สั้นสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมสองฝั่งโขง ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2565 “เมืองหนังอีสาน สู่เมืองหนังโลก” มุ่งพัฒนากำลังคนป้อนสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของประเทศไทยสู่เวทีโลก ระหว่างวันที่ 13 – 18 พฤษภาคม 2565 ณ วัดสิมนาโก อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ เพื่อพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถของนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาพยนตร์สั้น ของสถาบันการศึกษาที่เป็นหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือของสถาบันการศึกษาของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง จากประเทศเพื่อนบ้าน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องต่อไป

ซึ่งจะมีพิธีเปิดโครงการฯ ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2565 เพื่ออบรมพัฒนาบุคลากร ด้วยการสร้างคนให้มีความพร้อมสู่อุตสาหกรรม ผ่านสถาบันการศึกษาของมหาวิทยาลัยกว่า 20 สถาบัน โดยเป็นโครงการที่มุ่งพัฒนากำลังคนป้อนสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ของไทย และมีการผลิตภาพยนตร์สั้นร่วมกับผู้กำกับภาพยนตร์ไทยที่มีชื่อเสียงในระดับแนวหน้าของเมืองไทย

โดยคาดว่า จะมีผู้เข้าร่วมอบรม จำนวนไม่น้อยกว่า 150 คน ประกอบด้วย นักศึกษาและคณาจารย์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย อาทิ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น และสถานศึกษาจาก สปป. ลาว คือ สถาบันวิจิตรศิลป์ (สปป.ลาว) Souphanouvong University (สุภานุวงศ์) และ Lao National University มาร่วมอบรมในโครงการครั้งนี้ด้วย

รมว.วธ. กล่าวต่ออีกว่า วธ. ขอขอบคุณเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือทั้งของประเทศไทย และ สปป.ลาว ในการผลักดันให้เกิดกิจกรรมในครั้งนี้ ได้แก่ สถาบันวิจิตรศิลป์ / และสถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว / องค์กรด้านภาพยนตร์ ของ สปป. ลาว / คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น / สมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย / ตลอดจนหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ วธ.มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาวมาอย่างยาวนาน จึงพร้อมร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ให้ก้าวหน้าและมีการยกระดับสู่สากลมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังพร้อมเป็นหน่วยงานส่งเสริมและให้ความร่วมมือในการร่วมลงทุนระหว่างประเทศไทยและสปป.ลาวในอนาคตต่อไป