สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) เตือนภัยผู้เสพยาบ้าและยาไอซ์ ระวังอาการฟันผุถาวร (Meth Mouth) ลุกลามทั้งปาก ทำให้เปราะโยก ฟันหลุดฟันหลอ
นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ในปัจจุบันเด็กและเยาวชนเริ่มใช้ยาเสพติดมากขึ้น ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น เพื่อนชวน อยากลองเสพ ความคึกคะนอง ถูกหลอกลวง ตลอดจนความกดดันในครอบครัว สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม เป็นต้น การใช้ยาเสพติดทำให้เกิดอาการทางจิตประสาท หูแว่ว เห็นภาพหลอน อารมณ์ซึมเศร้า พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง เกิดความเสียหายในชีวิต ทรัพย์สินของตนเองและผู้อื่น ทำให้ร่างกายทรุดโทรม ทำลายระบบต่าง ๆ ของร่างกาย หลอดลมอักเสบ หัวใจวาย เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ รวมถึงเกิดปัญหาที่สำคัญในช่องปาก คือ ปัญหาฟันผุอย่างถาวร หรือที่เรียกว่า “อาการ Meth Mouth” ซึ่งจะหนักกว่าฟันผุธรรมดา โดยจะลุกลามไปทั่วทั้งปาก ฟันจะผุ กลายเป็นสีดำหรือเปลี่ยนสี เปราะ ผุ โยก เก และหลุดร่วงไป
นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาฟันผุอย่างถาวรจากการใช้ยาบ้าและยาไอซ์ หรือ Meth Mouth พบได้ในผู้ที่เสพยาบ้าและยาไอซ์ เป็นประจำในระยะเวลาเพียงไม่นาน โดยยาบ้าและยาไอซ์ มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาทส่วนกลาง ทำให้ปากแห้ง ซึ่งเป็นผลมาจากน้ำลายไหลน้อยลง การทำหน้าที่ของน้ำลายในการลดความเป็นกรดในช่องปากก็ลดประสิทธิภาพลง นำมาสู่การเกิดฟันผุมากขึ้น ซึ่งในระหว่างที่เสพยา ฤทธิ์ของยาทำให้ผู้เสพมีการกัดฟันหรือขบกรามอยู่ตลอดเวลาและเมื่อมีการแปรงฟันมักจะแปรงฟันด้วยความรุนแรง ส่งผลให้เกิด คอฟันสึก และ เหงือกร่นตามมา นอกจากนี้ในผู้เสพยาบ้าหรือยาไอซ์ มักจะมีช่วงที่ใช้ยาติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร น้ำตาลในเลือดต่ำ เมื่อพักการใช้ยาทำให้รู้สึกกระหายน้ำ โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ทำให้จำนวนแบคทีเรียเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งอาการทางจิตทำให้มีพฤติกรรมละเลยการทำความสะอาดช่องปากและฟัน ส่งผลให้เป็นโรคฟันผุที่มีความรุนแรงกว่าปกติ โดยฟันจะผุหลายซี่ มีรอยผุลึกและขนาดใหญ่ เกิดปัญหาฟันหลุดฟันหลอตามมา บางรายมีแผลที่ลิ้นร่วมด้วย ทั้งนี้ หากประสบปัญหาด้านยาและสารเสพติดสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานี และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และปัตตานี