นายอำพันธุ์ เวฬุตันติ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนให้เกษตรกรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีอาสาสมัครเกษตรทุกประเภท ทำหน้าที่ประสานการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรร่วมกับหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรสู่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน เกษตรกรได้รับการบริการทางการเกษตร จากภาครัฐ ได้อย่างรวดเร็ว ครบถ้วน ทั้งด้านการเผยแพร่ความรู้ ถ่ายทอดเทคโนโลยี พร้อมทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์ งานนโยบายด้านการเกษตรสู่ชุมชนและครัวเรือน โดยมุ่งเน้นการให้บริการแก่เกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว ทั่วถึง แม่นยำ ประสานความช่วยเหลือเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ
ในส่วนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ดำเนินงานขับเคลื่อนการนำระบบบัญชีไปวางรากฐานในการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยสร้างแกนนำเกษตรกรเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี (ครูบัญชี) เพื่อทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ด้านการจัดทำบัญชี การใช้ข้อมูลทางบัญชีเพื่อการวางแผนอาชีพ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ สู่เพื่อนเกษตรกรและประชาชนทั่วไป สามารถทำให้เกษตรกรและสมาชิกในชุมชนยึดถือเป็นแบบอย่างที่ดี รวมถึงการสร้างเครือข่ายถ่ายทอดความรู้แก่เกษตรกรในชุมชนของตนเองและพื้นที่ต่าง ๆในทุกจังหวัดทั่วประเทศ
โดยกรมฯ ได้กำหนดแผนการส่งเสริมการพัฒนาเครือข่ายด้านบัญชี เพื่อพัฒนาศักยภาพอาสาสมัครเกษตรด้านบัญชีหรือครูบัญชีให้เป็น Smart Farmer ด้านบัญชี เป็นต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านการจัดทำบัญชีและการนำบัญชีมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิต จำหน่ายผลผลิตแก่เกษตรกร ส่งเสริมให้มีครูบัญชีประจำศูนย์การเรียนรู้ ให้สามารถให้บริการความรู้ด้านการจัดทำบัญชีแก่เกษตรกรที่ขอรับบริการ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่มีส่วนร่วมในการทำงานและสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนของตนเอง รวมถึงการขยายเครือข่ายชมรม ครูบัญชีอาสาทั้งในระดับภาคและระดับประเทศ เพื่อให้ครูบัญชีได้มีการรวมกลุ่ม แลกเปลี่ยนแนวทางในการถ่ายทอดความรู้เพื่อสร้างเครือข่ายในชุมชน โดยยกระดับและพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้มีความเข้มแข็งและกว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อเป็นเครือข่ายที่สำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคการเกษตรต่อไป
อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีครูบัญชีที่ขึ้นทะเบียนและปฏิบัติงานกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จำนวน ๗,๖๓๖ ราย ในแต่ละปีกรมฯ จะคัดเลือกครูบัญชีที่มีความรู้ ความสามารถและมีความเชี่ยวชาญในการประกอบอาชีพด้านการเกษตรควบคู่กับการนำบัญชีไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน สามารถนำข้อมูลทางบัญชีไปใช้ในการวางแผนประกอบอาชีพ และถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เครือข่ายในชุมชนให้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน และพึ่งพาตนเองได้ เพื่อคัดเลือกให้เป็นเกษตรกรดีเด่น สาขาบัญชีฟาร์ม ระดับภาค และระดับประเทศ เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณและเผยแพร่ผลงานให้ปรากฏต่อสาธารณชน เป็นการเสริมสร้างให้เกิดขวัญกำลังใจในการสร้างผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมยิ่งขึ้นและเป็นแบบอย่างในแนวทางปฏิบัติงานให้บุคคลอื่นต่อไป โดยจะต้องเป็นครูบัญชีอาสาที่ขึ้นทะเบียนกับกรมตรวจบัญชีสหกรณ์และเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ที่สำคัญคือ มีการจัดทำบัญชีฟาร์มอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ บัญชีรับ – จ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ มีการนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการวางแผนหรือปรับเปลี่ยนอาชีพ
พร้อมทั้งได้เผยแพร่ให้แก่ส่วนรวมนำไปใช้ประโยชน์ สมควรแก่การยกย่องให้เป็นตัวอย่างแก่บุคคลอื่น โดยคณะกรรมการมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคจนประสบผลสำเร็จในการสร้างผลงานด้านบัญชีฟาร์มทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ นอกจากนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่อาสาสมัครเกษตรด้านบัญชี ซึ่งถือเป็นตัวแทนภาคประชาชนของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในการปฏิบัติงานส่งเสริมการจัดทำบัญชีรายบุคคล กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงได้กำหนดให้วันที่ ๙ พฤษภาคม ของทุกปีเป็น “วันครูบัญชีอาสา กรมตรวจบัญชีสหกรณ์” นับตั้งแต่ปี ๒๕๖๕ เป็นต้นไป
สำหรับเกษตรกรดีเด่นสาขาบัญชีฟาร์ม ระดับประเทศ ประจำปี 2565 ได้แก่ นายอดุลย์ วิเชียรชัย เกษตรกรดีเด่นจากจังหวัดปทุมธานี เป็นคนรุ่นใหม่ที่กลับมาทำอาชีพการเกษตร โดยปรับเปลี่ยนแนวทางการทำเกษตรจากการใช้สารเคมีมาเป็นการเกษตรแบบผสมผสาน ปลอดสารเคมี ด้วยการน้อมนำหลักปรัชญาในเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 รวมถึงศาสตร์พระราชาและหลักทฤษฎีอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด บนพื้นที่ 26 ไร่ ของตนเองจนประสบผลสำเร็จให้เห็นในเชิงประจักษ์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นปราชญ์ชาวบ้านภายใต้โครงการเกษตรตามแนวทางทฤษฎีใหม่ โดยนำข้อมูลที่ได้จากการจดบันทึกบัญชีรายรับ – รายจ่ายในครัวเรือนและบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ นำมาสู่การวิเคราะห์เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตร ลดต้นทุนและสร้างรายได้เสริม มีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตร การเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์ และการเชื่อมโยงตลาดไปยังเครือข่ายภายนอก
โดยการนำสินค้าไปจำหน่ายในกลุ่มเครือข่าย เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกสำหรับการบริโภคสินค้าเกษตรปลอดภัย และได้ถ่ายทอดความรู้การใช้ข้อมูลทางบัญชีของตนเองเป็นบทเรียนให้แก่สมาชิกในชุมชนได้เลือกอาชีพเสริมในด้านที่ตนเองสามารถทำได้ ทำให้เกิดการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น ในตำบลคลองหก ชื่อว่า “วิสาหกิจชุมชนเกษตรแปรรูปหมู่ 14” และใช้แนวคิดการให้ความรู้ทางบัญชีอย่างง่าย “บัญชี คือ การออกแบบชีวิต” ถ่ายทอดความรู้ให้เกษตรกรและผู้ที่สนใจในศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อำเภอหนองเสือ จึงเป็นผลสำเร็จที่เกิดจากการนำบัญชีไปใช้วางแผนการใช้จ่ายเงิน วางแผนประกอบอาชีพ สามารถบริหารจัดการทุนได้มีประสิทธิภาพ และบริหารการตลาดจนประสบผลสำเร็จ สามารถสร้างผลงานด้านบัญชีฟาร์มทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ