พฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตแบบผิด ๆ มีผลต่อสุขภาพของทุกคนเป็นอย่างมาก อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค NCDs ยิ่งในยุคนี้เป็นยุคที่สั่งอาหารได้สะดวก รวดเร็ว ทำให้เกิดวิถีการกินแบบตามใจปาก หรือแม้กระทั่งการนั่งทำงานในท่าเดิมเป็นเวลานาน ๆ รวมทั้งการมีภาวะเครียดสะสม ส่วนหนึ่งนั้นมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตแบบไม่ระวัง โดยสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสัญญาณเตือนความเสื่อมสภาพของร่างกายเรานั่นเอง
NCDs หรือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เกิดจากความเสื่อมสภาพของร่างกาย ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อใด ๆ แต่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเรานั่นเอง NCDs เป็นโรคที่เราสร้างขึ้นเองจากการกระทำ เช่น การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่เข้าสู่ร่างกาย ความเครียด และการไม่ค่อยออกกำลังกาย รวมไปถึงพฤติกรรมการกิน ซึ่งผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคเหล่านี้ ส่วนใหญ่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ สสส.จึงพยายามสร้างความตระหนัก กระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้ชีวิต เช่น ลดการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม เลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เสริมสร้างกิจกรรมทางกาย เพื่อสุขภาพที่ดี ห่างไกลจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสิ่งที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและสุขภาพ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs ส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ การดื่มเหล้า สูบบุหรี่ การรับประทานอาหารหวาน มัน เค็ม มากจนเกินไป การได้รับสารเคมีตกค้างจากผัก และผลไม้ การขาดกิจกรรมทางกาย มีพฤติกรรมเนือยนิ่ง หรือแม้กระทั่งเรื่องของสุขอนามัยในการนอน สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ปัญหาโรค NCDs จึงจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะปรับรูปแบบการใช้ชีวิตและพฤติกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
“เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การลดพฤติกรรมเสี่ยงที่จะนำไปสู่โรค NCDs ส่งเสริมกิจกรรมทางกาย ลดการบริโภคอาหารหวาน มัน เค็ม ส่งเสริมการบริโภคผักและผลไม้ ลดละเลิกปัจจัยเสี่ยงอย่าง บุหรี่ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมพร้อมรับปัญหาสุขภาพอุบัติใหม่ และปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคม สู่วิถีชีวิตสุขภาวะ เพื่อเสริมสร้างสุขภาพดี โดยเริ่มจากตัวเรา นำไปสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ปัจจุบันกลุ่มโรค NCDs มีทั้งหมด 6 โรค ดังนี้
1) โรคมะเร็ง (Cancer)
2) โรคเบาหวาน (Diabetes Mellitus)
3) โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ (Cardiovascular & Celebrovascular Diseases)
4) โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)
5) โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension)
6) โรคอ้วนลงพุง (Obesity)
เคล็ดลับปรับพฤติกรรมให้ห่างไกลจากโรค NCDs
1) หากนั่งนานๆ ควรมีการขยับร่างการบ่อย ๆ และจัดท่วงท่านั่งที่สบายขึ้น
2) เลี่ยงการรับประทานรสหวานจัด มันจัด เค็มจัด ลดการเติม หรือปรุงอาหารด้วยเครื่องปรุงรส
3) หากมีการประชุมเป็นเวลานาน ๆ ควรพักเบรก เพื่อยืดเส้น ยืดสาย แก้การปวดเมื่อยจากการนั่งท่าเดิม ๆ
4) พักผ่อนให้เพียงพอ
5) ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย ลดการวิตกกังวล
หากเราสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ เราก็จะมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ห่างไกลจากโรคภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะโรค NCDs ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากความไม่รู้ และความชะล่าใจในการใช้ชีวิตประจำวัน เราสามารถกำหนดตัวเองได้ว่าร่างกายควรทำอะไรให้สุขภาพจิตและสุขภาพกายดี เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต โดยเฉพาะในวัยทำงาน ซึ่งถือว่ามีไลฟ์สไตล์ที่เอื้อต่อการเกิดโรคเป็นอย่างมาก ดังนั้น การป้องกันที่ดีที่สุด คือ การหยุดพฤติกรรมเสี่ยงและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตใหม่ ให้ห่างไกลจากกลุ่มโรค NCDs
สสส. และภาคีเครือข่าย ขับเคลื่อนการสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สนับสนุนให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดูแลสุขภาพ ด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง อย่างการเลือกรับประทานอาหาร เพิ่มผัก ผลไม้ ลดหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีกิจกรรมหรืองานอดิเรกในการผ่อนคลายความเครียด พักผ่อนให้เพียงพอ รวมทั้งลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยง อย่างเหล้า บุหรี่ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ห่างไกลจากโรคต่าง ๆ นำไปสู่วิถีชีวิตแห่งสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน