คูโบต้าฟาร์ม – พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ชื่นชมเกษตรกรต้นแบบสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ที่สร้างรายได้เพิ่มกว่า 50% เพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน 20% จากการนำนวัตกรรม และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลสมัยใหม่ มาบริหารการเกษตรแบบรวมกลุ่ม ด้านสยามคูโบต้า ยืนยันร่วมมือภาครัฐ ยกระดับเกษตรกรด้วยนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ เสนอรัฐหนุนโครงสร้างพื้นฐาน ระบบดิจิทัล ติดตั้งสถานีวัดอากาศ เพื่อวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสม สนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเกษตรกรรายย่อยได้มีโอกาสใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ มั่นใจขยายผลสมาร์ท ฟาร์มมิ่งทั่วไทย ช่วยแก้จน ลดเหลื่อมล้ำ สร้างรายได้เกษตรกรยั่งยืน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสพบเกษตรกรต้นแบบ และเยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์มว่า วันนี้ได้เห็นตัวอย่างความสำเร็จของเกษตรกรสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ที่สร้างรายได้เพิ่มกว่า 50% เพิ่มผลผลิตได้ตลอดทั้งปี และลดต้นทุนได้ถึง 20 % ทั้งนี้ เป็นเพราะเกษตรกรมีการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ช่วยให้เกษตรกรรายย่อย มีโอกาสใช้เครื่องจักรกลการเกษตรสมัยใหม่ รวมถึงมีความรู้ในการทำเกษตร การใช้ที่ดิน การวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสม และทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพที่สุด ตลอดจนการพัฒนาสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ที่ตรงความต้องการของตลาดให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งหากมีการขยายผลสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ได้ทั่วไทย ก็ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้เกษตรกร ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ลดต้นทุน แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน
นายทาคาโนบุ อะซึมะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า สยามคูโบต้า พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรไทยให้เข้มแข็ง สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาต่างๆ ให้เกษตรกร อาทิ การลดต้นทุนการผลิต และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ด้วยระบบควบคุมน้ำอัจฉริยะ ระบบโซล่าร์เซลล์บนแปลงเกษตร ซึ่งช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า และนำไปใช้ปลูกพืชที่ต้องการแสงน้อยอย่างผักสลัด การปรับเปลี่ยนวิธีทำนาเป็นการหยอดแห้งหรือปักดำด้วยรถดำนา ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนเมล็ดพันธุ์ได้กว่า 60-70 % และการไถกลบตอซัง ช่วยลดการเผา ที่สามารถประหยัดค่าปุ๋ยได้ถึง 20 % เป็นการทำเกษตรที่ช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสอดคล้องกับนโยบาย Net Zero รวมถึงการติดตั้งสถานีวัดสภาพอากาศ เพื่อการวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการบริหารจัดการเครื่องจักรกลการเกษตรแบบรวมกลุ่ม ช่วยให้เกษตรกรรายย่อย ได้มีโอกาสใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่าการทำสมาร์ท ฟาร์มิ่งให้ประสบความสำเร็จ มีองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่
1. การบูรณาการองค์ความรู้ ได้แก่ การลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก
2. การให้ความรู้เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการเกษตร ให้เข้าถึงแหล่งความรู้ด้านการเกษตร
3. การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การติดตั้งสถานีวัดอากาศให้ครอบคลุมพื้นที่การเกษตร การปรับสภาพพื้นที่ให้เหมาะสมกับการเพาะปลูก อินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงง่ายและสัญญาณที่ครอบคลุมทุกพื้นที่
4. การเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตร และนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ สนับสนุนเรื่องการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ระบบเช่าเครื่องจักรกลการเกษตรบนดิจิทัลแพลตฟอร์มจับคู่ผู้ให้บริการสำหรับเกษตรกรรายย่อย
5. การตลาด ด้วยการเข้าถึงข้อมูลการตลาดทั้งปริมาณความต้องการและราคา เพื่อวางแผนการเพาะปลูกได้อย่างแม่นยำ การขยายตลาดใหม่ ทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มโดยการแปรรูปสินค้าเกษตร
“ทั้งนี้ หากได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ช่วยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบดิจิทัล ติดตั้งสถานีวัดอากาศ เพื่อวางแผนการเพาะปลูกให้เหมาะสม และสนับสนุนการรวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เพื่อเกษตรกรรายย่อยได้มีโอกาสใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางสร้างความร่วมมือและบูรณาการจากทุกภาคส่วน เชื่อมั่นว่าจะสามารถขยายผลสมาร์ทฟาร์มมิ่งได้ทั่วไทย ช่วยให้เกษตรกรเกิดความเชื่อมั่นในการประกอบอาชีพ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ ส่งผลให้ภาคการเกษตรมีความเข้มแข็ง” นางวราภรณ์ กล่าว
สยามคูโบต้า มีจุดมุ่งหมายเพื่อการพัฒนาโซลูชันให้ครอบคลุม จากต้นน้ำถึงปลายน้ำครบทุกความต้องการของเกษตรกร รวมถึงการแปรรูป การเพิ่มมูลค่าผลผลิต และเชื่อมโยงกับผู้ซื้อหรือตลาด พัฒนาสู่การเป็นเกษตรกรรมรายได้สูง เกษตรแม่นยำสมัยใหม่ และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม หรือ BCG Model ทั้งนี้ คูโบต้าฟาร์มจะเป็นต้นแบบถ่ายทอดความรู้ไปยังเกษตรกรและชุมชนอื่นๆ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDG ของสหประชาชาติ พร้อมสนับสนุนโครงการของภาครัฐในการพัฒนาสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ผ่านความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนเกษตรกร และพร้อมเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการสนับสนุนสมาร์ท ฟาร์มมิ่ง ในประเทศไทย ช่วยขจัดความยากจนของเกษตรกรโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และผลักดันเศรษฐกิจภาคการเกษตรของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
“คูโบต้าฟาร์ม” เกิดจากการนำองค์ความรู้นวัตกรรมเกษตรครบวงจร ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคูโบต้า หรือ คูโบต้า อะกริ โซลูชัน (เคเอเอส) มาประยุกต์ใช้ใน 10 โซน บนพื้นที่ 220 ไร่ ในอำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ที่ออกแบบภายใต้แนวคิดการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ ซึ่งได้รับความร่วมมือด้านวิจัยและพัฒนาจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อเป็นฟาร์มต้นแบบที่ถ่ายทอดให้เกษตรกรได้เรียนรู้การใช้เครื่องจักรกลและโซลูชันการเกษตร