กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมสนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินการและขยายผลโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันสู่ชุมชน ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวันของเด็กนักเรียน นอกจากจะได้รับอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการบริโภคแล้ว ยังได้รับความรู้ด้านการเกษตร เกิดทัศนคติที่ดีและสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมได้ในอนาคต
นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตรได้สนองพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันมาตั้งแต่ปี 2523 ที่มีพระราชดำริให้ทดลอง โครงการอาหารกลางวันผักสวนครัว ด้วยจุดมุ่งหมายดังพระราชดำรัส
“เราต้องการช่วยให้นักเรียนในโรงเรียนมีสุขภาพอนามัยบริบูรณ์แข็งแรง รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและถูกตามส่วนประกอบ ที่จะบำรุงร่างกายอยากให้พืชผักหรืออุปกรณ์ แล้วให้นักเรียนมาทำการเกษตรซึ่งเป็นวิธีที่อ้อมและยากขึ้นมาอีกทางหนึ่ง อาหารที่จะให้รับประทานนั้น เป็นอาหารที่ได้มาจากผลิตผลของนักเรียนผู้รับประทานเองซึ่งอาจจะได้ผลช้าแต่ก็เป็นวิธีหนึ่งซึ่งจะได้รับอาหาร และคิดว่าจะได้รับประโยชน์เป็นผลพลอยได้ที่สำคัญ คือ ความรู้ทางด้านการเกษตรและ ด้านโภชนาการ ซึ่งจะเป็นวิชาติดตัวไปจนนักเรียนเหล่านั้นเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่และได้ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรกรรม วิชาการใหม่ ๆ เหล่านั้น อาจจะนำมาช่วยในการครองชีพได้มากทีเดียว”
ภายหลังจากที่ได้ทดลองโครงการอาหารกลางวันผักสวนครัวเป็นเวลา 1 ปี ได้ผลดีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ขยายไปสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศใน พ.ศ. 2524 เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวด้วย จึงเรียกชื่อใหม่ว่า โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ให้เด็กนักเรียนมีสุขภาพอนามัยบริบูรณ์แข็งแรง โดยอาศัยบริโภคอาหารที่ได้จากการเกษตรในโรงเรียน อีกทั้งมีความรู้ทางการเกษตรจากการเข้าร่วมทำการเกษตรและทรงหาแนวทางที่จะช่วยพัฒนาชุมชนโดยให้โรงเรียนเป็นส่วนนำในการพัฒนาและการถ่ายทอดความรู้จากเด็กนักเรียนไปยังชุมชน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้เด็กนักเรียนร่วมกันทำการเกษตรเพื่อผลิตอาหารสำหรับนำไปบริโภค เด็กนักเรียนได้เรียนรู้เทคนิคการปลูกผัก ผลไม้ โดยใช้พันธุ์พื้นบ้าน การเลี้ยงสัตว์ การเก็บเกี่ยวการแปรรูป และการถนอมอาหาร ฯลฯ
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้สนองพระราชดำริฯ โดยส่งเสริมสนับสนุนให้นักเรียนมีความรู้ทักษะทางด้านการเกษตร การแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ส่งเสริมให้โรงเรียนมีแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรและแหล่งพันธุ์ดีสู่ชุมชนที่อยู่ห่างไกล มีเป้าหมายให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารที่มีปัญหาการขาดแคลนสารอาหาร และโรคติดต่อสามารถลดระดับความรุนแรงลง ให้เป็นไปตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560 – 2569) และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) รวมทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) ที่น้อมนำหลัก “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” มาพัฒนาประเทศ เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการขยายการพัฒนาจากโรงเรียนสู่ชุมชน ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองและพัฒนาท้องถิ่นได้
สำหรับปี 2562 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม และโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร รวม 747 โรงเรียน ในพื้นที่ 50 จังหวัด ผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา นอกจากทำให้เด็กนักเรียนมีอาหารบริโภคเพียงพอตลอดปีการศึกษาแล้ว นักเรียนยังได้รับความรู้ในการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยตามแนวการผลิตสินค้าเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP : Good Agricultural Practice) ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขยายผลจากโรงเรียนไปสู่ชุมชน ในการพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นศูนย์บริการความรู้ ซึ่งได้นำองค์ความรู้ด้านการเกษตรจากโรงเรียนมาผลิตอาหารในครัวเรือน ในพื้นที่ 50 จังหวัด จังหวัดละ 1 แห่ง โดยเลือกผู้ปกครองที่บุตร – หลาน เรียนอยู่ในโรงเรียนและมีฐานะยากจน มีพื้นที่ทำการเกษตร พร้อมสนับสนุนปัจจัยการผลิต พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ปุ๋ยคอก ให้แก่ครัวเรือนเพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสาน ส่งเสริมให้ครอบครัวของนักเรียนทำการเกษตรแบบยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมการถนอมและแปรรูปอาหาร ให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงมีพระราชดำริให้ขยายผลไปสู่ชุมชน
ตัวอย่างของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ ในจังหวัดสระแก้ว ที่ประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ข้อนอก, นายวินิต เคยชัยภูมิ และนางสาวไฉน นครเกตุ ซึ่งแต่ละรายได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรแบบผสมผสาน การปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ การขยายพันธุ์มะนาว และการเลี้ยงไส้เดือนดิน เป็นต้น ทำให้ทุกรายมีอาหารจำพวกผัก ผลไม้ และเนื้อสัตว์ บริโภคเพียงพอในครอบครัว ผลผลิตเหลือจำหน่าย เรียกได้ว่า การขยายผลโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันจากโรงเรียนสู่ชุมชน ทำให้สมาชิกในครอบครัวมีอาหารดีบริโภค มีรายได้เพิ่ม และเหนือสิ่งอื่นใด คือ ความสุขที่เพิ่มขึ้นในครอบครัวและชุมชน