ในระยะนี้จะเข้าสู่ช่วงที่ต้นแตงโมออกดอก กรมวิชาการเกษตร เตือนเกษตรกรชาวสวนแตงโมเฝ้าระวังช่วงที่มีอากาศร้อนและมีฝนตกบางพื้นที่ ให้หมั่นสังเกตอาการของโรคเถาเหี่ยว จะพบแสดงอาการเริ่มแรกใบล่างมีสีเหลือง โดยเริ่มจากใบบริเวณโคนเถาและลุกลามเหลืองต่อเนื่องไปสู่ยอดจนเหลืองทั้งต้น ต่อมาเถาแตงจะเหี่ยวและตาย บางครั้งมีรอยแตกตามยาวลำต้นบริเวณโคนเถาใกล้ผิวดิน เมื่อผ่าไส้กลางเถาดูจะเห็นภายในลำต้นเป็นสีน้ำตาล มักพบระบาดรุนแรงในพื้นที่สภาพดินเป็นกรด และในพื้นที่เดิมที่มีการปลูกแตงโมซ้ำต่อเนื่องกัน
สำหรับพื้นที่ที่พบอาการของโรคเถาเหี่ยว หลังเก็บเกี่ยวแตงโมเรียบร้อยแล้ว ให้เกษตรกรเก็บเศษซากพืชส่วนที่หลงเหลือในแปลงปลูกนำไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที เพื่อลดการสะสมเชื้อสาเหตุโรค และควรปลูกพืชหมุนเวียนชนิดอื่นที่ไม่ใช่พืชตระกูลแตง (แตงกวา ฟักทอง มะระ แคนตาลูป) หรือพืชในกลุ่มพริก มะเขือเทศ และมันฝรั่ง เพราะพืชกลุ่มนี้อ่อนแอต่อโรค หลีกเลี่ยงการปลูกแตงโมซ้ำที่เดิมติดต่อกันเกิน 3 ปี
นอกจากนี้ ก่อนการปลูกแตงโมในฤดูถัดไป เกษตรกรควรไถกลบหน้าดินและตากดินไว้นานกว่า 2 สัปดาห์ และควรตรวจสภาพความเป็นกรด-ด่างของดิน ถ้าดินมีสภาพเป็นกรดจัด ให้เกษตรกรใส่ปูนขาวปรับสภาพดิน อัตรา 100-150 กิโลกรัมต่อไร่ จะสามารถช่วยลดปริมาณเชื้อในดินลงได้มาก อีกทั้งไม่ควรปลูกแตงโมแน่นจนเกินไป เพื่อ ให้ในแปลงปลูกสามารถระบายความชื้นได้ดี
เกษตรกรควรหมั่นสำรวจตรวจแปลงปลูกอย่างสม่ำเสมอ หากพบการระบาดของโรค ให้เกษตรกรถอนต้นที่เป็นโรคนำออกไปเผาทำลายนอกแปลงปลูกทันที จากนั้น ให้ใช้สารป้องกันกำจัดโรคพืชอีไตรไดอะโซล 24% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารอีไตรไดอะโซล + ควินโตซีน 6% + 24% อีซี อัตรา 30-40 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยราดรดดินตรงจุดที่พบโรคในหลุมและบริเวณใกล้เคียง เพื่อป้องกันโรคระบาดไปยังต้นข้างเคียง