กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะประชาชนเลือกซื้ออาหารทะเลจากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่เชื่อถือและได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการ เพื่อความสะอาด ปลอดภัย
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า อาหารทะเลเป็นอาหารสดที่เน่าเสียได้ง่าย ทำให้ผู้ประกอบการบางรายใช้วิธีการที่ผิดเพื่อรักษาความสดและชะลอการเน่าเสียของอาหารทะเลด้วยการนำมาแช่สารฟอร์มาลีน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพราะสารฟอร์มาลีนเป็นสารที่ห้ามนำมาใส่อาหาร หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนไปในปริมาณ 60-90 มิลลิกรัม จะทำให้เป็นพิษต่อระบบทางเดินอาหาร อาจมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายท้อง ปวดท้องอย่างรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบ เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะไม่ออก หมดสติ ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้เสียชีวิตเพราะระบบหมุนเวียนเลือดล้มเหลว
“การเลือกซื้ออาหารทะเลต้องเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย ซึ่งจะมีการตรวจการปนเปื้อนจากฟอร์มาลีนอยู่สม่ำเสมอและควรสังเกตอาหารที่จะซื้อด้วย เช่น ซื้อปลาต้องเลือกปลาที่เนื้อแน่น กดไม่บุ๋ม ไม่มีกลิ่นผิดธรรมชาติ เกล็ดไม่มีรอยแยกหรือแตกออก เพราะอาจทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนในเนื้อปลาได้ง่าย การเลือกซื้อปู ตาต้องใสและขาต้องติดตัวปูครบทุกขา การเลือกซื้อกุ้ง หัวกุ้งต้องใส หัวกับตัวจะยังติดกันแน่น เพราะกุ้งที่ไม่สด หัวหรือส่วนที่เป็นเปลือกส่วนหัวจะไม่ติดกับตัว นอกจากนี้ ผู้ที่นิยมบริโภคแมงดาและแมงกะพรุน ต้องระวังในการเลือกซื้อ เนื่องจากแมงดาทะเลมี 2 ชนิด คือ แมงดาจานที่ไม่มีพิษ ส่วนแมงดาถ้วยหรือแมงดาไฟหรือเหรา เป็นแมงดาที่มีพิษ ผู้บริโภคต้องสังเกตให้ดีว่าเป็นแมงดาที่กินได้หรือไม่ได้ หากแยกไม่ออก ไม่ควรกิน อาจเสี่ยงได้รับพิษ ส่วนแมงกะพรุนที่กินได้ มี 2 ชนิด คือ แมงกะพรุนหนังและแมงกะพรุนจาน แต่ผู้บริโภคควรระวังแมงกะพรุนไฟเพราะเป็นแมงกะพรุนมีพิษ ทั้งนี้ อาหารทะเลที่นำมาจำหน่ายควรแช่เย็นหรือแช่น้ำแข็งที่สะอาดและต้องทำความสะอาดภาชนะที่ผสมน้ำคลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ที่สำคัญต้องปรุงให้สุกด้วยความร้อน หากไม่กินทันทีควรเก็บไว้ในตู้เย็นเพื่อชะลอการเน่าเสีย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว