แพทย์เตือนสารพิษในบุหรี่ ก่อให้เกิดโรคร้ายทำลายหัวใจ

สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ เตือนผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคมะเร็ง และโรคหลอดเลือดหัวใจ เพื่อให้ห่างไกลจากโรคร้ายควรควบคุมปัจจัยเสี่ยงด้วยการเลิกสูบบุหรี่เพื่อสุขภาพร่างกายของตนและคนรอบข้าง

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การสูบบุหรี่เป็นพิษต่อร่างกาย เพราะบุหรี่มีสารพิษ ประกอบไปด้วย นิโคติน เป็นสารคล้ายน้ำมัน ไม่มีสี ทำให้หลอดเลือดตีบตัน เกิดโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และกระตุ้นระบบประสาท คาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้หัวใจและส่วนต่างๆ ของร่างกายได้รับออกซิเจนน้อย ส่งผลให้มีอาการเหนื่อยง่ายเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหัวใจ ทาร์ เป็นสารคล้ายน้ำมันดิน ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมอักเสบเรื้อรัง ไนโตรเจนไดออกไซด์ เป็นก๊าซพิษที่ทำลาย เยื่อบุหลอดลมส่วนปลายและถุงลม ทำให้เกิดถุงลมโป่งพอง ไฮโดรเจนไซยาไนต์ ทำให้เกิดอาการไอมีเสมหะและหลอดเลือดอักเสบเรื้อรัง ซึ่งสารพิษเหล่านี้ส่งผลร้ายทำให้เกิดโรคในผู้สูบบุหรี่ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ โรคมะเร็งต่างๆ เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ  ซึ่งโรคหลอดเลือดหัวใจยังคงเป็นปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก พบว่ามีอุบัติการณ์สูงขึ้น ในประชากรตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป เกิดขึ้นได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย

 

นายแพทย์เอนก กนกศิลป์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันโรคทรวงอก กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมีมากมาย อาทิ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ภาวะไขมัน ในเลือดสูง ภาวะอ้วนลงพุง ภาวะเครียด การบริโภคผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย รวมทั้งเกิดได้ใน เพศชายอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป เพศหญิงอายุตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไปหรือหลังหมดประจำเดือน และจะพบมากในคนอายุน้อยที่สูบบุหรี่ ดังนั้น เพื่อให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดหัวใจ เราต้องควบคุมปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว  และเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเลิกสูบบุหรี่ ทั้งนี้หากสามารถเลิกบุหรี่ได้ จะส่งผลดีต่อร่างกาย ดังนี้ ภายใน 15 นาที จะทำให้หัวใจเต้นช้าลง 12 ชั่วโมง ระดับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงสู่ภาวะปกติ 14 วัน ระบบไหลเวียนเลือดดีขึ้น หายใจโล่งขึ้น รู้สึกสดชื่น 1 ปี ความเสี่ยงโรคหัวใจวายลดลง 50% และ 5 ปี ความเสี่ยงโรคสมองลดลง 50 % จึงกล่าวได้ว่าการเลิกสูบบุหรี่นอกจากจะส่งผลดีต่อร่างกายตนเอง ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคสมองแล้ว ยังส่งผลดีต่อคนรอบข้างให้ห่างไกลจากสารพิษในบุหรี่ที่เป็นพิษร้ายต่อร่างกายอีกด้วย