วันที่ 5 พฤษภาคม 2565 สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (สผ.) MOU กับ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของการขับเคลื่อนผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ โดยมี นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กับ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การส่งเสริมการวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ” เพื่อเป็นกลไกการประสานความร่วมมือในการสนับสนุนการวิจัย และการขับเคลื่อนให้ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ ในกระบวนการนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎร โดยมี นายคุณวุฒิ ตันตระกูล รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และ นายสมปรารถนา สุขทวี รองผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน ณ ห้องประชุม บี1 – บี2 โซนซี อาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร
นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า สผ. ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ภายใต้แผนบูรณาการการวิจัยและนวัตกรรมในปี 2562 ในประเด็นวิจัยด้านอาเชียน และการพัฒนางานวิชาการของสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนการสนับสนุนข้อมูลวิจัยในระบบบริหารงานวิจัยแห่งชาติของ วช. ต่อมาได้ร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยผ่านการดำเนินงานของสถาบันคลังสมองของชาติในการพัฒนากลไกและกระบวนการเพื่อสนับสนุนการวิจัยและผลักดันผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ การให้ทุนสนับสนุนการวิจัยตามความต้องการของฝ่ายนิติบัญญัติ ในปี 2564เรื่อง บทบาทพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีเพื่อการถ่วงดุลในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา : จากปัจจุบันสู่อนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไขรายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ และจะนำส่งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรใช้ประโยชน์ในเชิงกฎหมาย และข้อมูลเชิงนโยบายสำหรับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ สผ. ยังได้จัดประชุมเชิงนโยบายเรื่อง อนาคตประเทศไทยใน 10 มิติ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และวงงานรัฐสภา เพื่อสนับสนุนงานด้านวิชาการและการวิจัยและขับเคลื่อนให้ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. เห็นว่ากระบวนการนิติบัญญัติเป็นกระบวนการที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการวางกรอบทางกฎหมาย นโยบาย และการบริหารราชการแผ่นดินของประเทศ จึงสนับสนุนการทำฐานข้อมูลให้หนักแน่นและมีองค์ความรู้น่าเชื่อถือ ผ่านงานวิจัยไปสนับสนุนกระบวนการนิติบัญญัติจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด
โดยปีที่ผ่านมา วช. ได้ร่วมกับสถาบันคลังสมองของชาติ จัดตั้ง “โครงการประสานงานสนับสนุนทุนวิจัยและผลักดันการใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติและการบริหารราชการแผ่นดิน” เพื่อสร้างองค์ความรู้โดยการสนับสนุนทุนวิจัยเชิงนโยบาย ที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการพิจารณาร่างกฎหมายและการประเมินผลกระทบของกฎหมายขององค์กรฝ่ายนิติบัญญัติ และที่จะนำไปใช้ในการจัดทำร่างกฎหมายและการดำเนินนโยบายมาตรการต่าง ๆ ขององค์กรฝ่ายบริหาร และเพื่อจัดการความรู้จากงานวิจัยที่มีอยู่ในประเทศให้เป็นระบบ เชื่อมต่อกับองค์กรผู้ใช้ประโยชน์ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร ร่วมถึงดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้เกิดการผลักดันความรู้จากงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์โดยรัฐสภา กระทรวง และกรม
ตลอดช่วง 1 ปีที่ผ่านมา วช. ได้รับโจทย์วิจัยที่มาจากความต้องการของของสภาผู้แทนราษฎรและได้ให้การสนับสนุนโครงการวิจัยไปเป็นจำนวน 5 โครงการ และ วช. ยังได้ร่วมมือกับ สผ. จัดประชุมเวทีนโยบายสาธารณะ (Public Policy Forum) เพื่อนำเสนอผลงานวิจัยที่ วช. ให้การสนับสนุนต่อสมาชิกและบุคลากรของรัฐภา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ งานวิจัยจากชุดโครงการประเทศไทยในอนาคต (Future Thailand) ซึ่งนำเสนอในเวทีสาธารณะดังกล่าวจำนวน 6 ครั้ง เป็นต้น
วช. หวังว่าการลงนามเพื่อผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติ จะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการดำเนินงาน และเพื่อให้ผลงานวิจัยสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด วช. จึงวางกรอบการดำเนินงานในการสนับสนุนงานวิจัยตามความต้องการของสภาผู้แทนราษฎร รวมถึงหาแนวทางในการผลักดันให้ผลงานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ในกระบวนการนิติบัญญัติของสภาผู้แทนราษฎรให้ได้มากที่สุดต่อไป