วธ.เผยกระแสตอบรับงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง ปี 2565 ในรูปแบบออนไลน์ช่วงเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เยี่ยมชมคูหาออนไลน์ประเทศไทยของผู้ประกอบการ 22 แห่งทั้งหมด 1,112 ราย เกิดการเจรจาธุรกิจทั้งหมด 96 ครั้ง ประมาณการมูลค่ารวมกว่า 411 ล้านบาท
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยภายใต้คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.)บูรณาการความร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติและภาคเอกชน ในนามทีมประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “Content Thailand” เข้าร่วมงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง ประจำปี 2565 (Hong Kong International Film & TV Market (FILMART) 2022) เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 14-17 มีนาคม 2565 เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
โดยมีบริษัทผู้ผลิตจัดจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เกมและแอนิเมชัน รายการโทรทัศน์ ละครและโฆษณา ธุรกิจเกี่ยวเนื่องในประเทศไทย 22 แห่ง เข้าร่วมงานดังกล่าวและร่วมกิจกรรมตลาดซื้อขายภาพยนตร์และโทรทัศน์ในพื้นที่คูหาประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์รูปแบบออนไลน์ ซึ่งผลการเข้าร่วมงานมีผู้เยี่ยมชมคูหาออนไลน์ประเทศไทยทั้งหมด 1,112 ราย การเจรจาธุรกิจรวมทั้งสิ้น 96 ครั้ง และประมาณการมูลค่ารวมกว่า 411 ล้านบาท
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า การที่ทีมประเทศไทยเข้าร่วมงานตลาดภาพยนตร์และโทรทัศน์นานาชาติฮ่องกง ประจำปี 2565 เป็นการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน และผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทย เช่น ภาพยนตร์ ดนตรี ศิลปะการแสดง เป็นต้น เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่มุ่งใช้มิติวัฒนธรรมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศและสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทย
อีกทั้งส่งเสริมและพัฒนาตลาดภาพยนตร์และวีดิทัศน์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือในการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น การร่วมลงทุนสร้างผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ระหว่างประเทศ และส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ในประเทศไทย ขณะเดียวกันปีนี้วธ.มีวิสัยทัศน์ใหม่คือ “วัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มีบทบาทนำในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย”และปรับเปลี่ยนบทบาทสู่กระทรวงสังคมกึ่งเศรษฐกิจ“วัฒนธรรมทำดี ทำงาน ทำเงิน”
ซึ่งผลจากการเจรจาทางธุรกิจในงานครั้งนี้ ช่วยสร้างรายได้ และขยายเครือข่ายทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการให้มีคู่ค้าหรือผู้ร่วมทุนผลิตเนื้อหารายใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ดิจิทัลคอนเทนต์ไทย รวมไปถึงสร้างความสนใจร่วมลงทุนและการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง