รองศาสตราจารย์นายแพทย์ ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับ มหาวิทยาลัยคิวชู จัดโครงการถ่ายทอดนวัตกรรม เทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด เพื่อรองรับการเป็นเมดิคอลฮับ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยในช่วง 10 ปีนี้ หุ่นยนต์ผ่าตัดได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งปัจจุบันการพัฒนาหุ่นยนต์ผ่าตัด ได้ก้าวเข้าสู่ขั้นให้หุ่นยนต์ผ่าตัดตามการเคลื่อนไหวนิ้วและมือของศัลยแพทย์ (da vinci model) มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในเอเชียที่วิจัยคอมพิวเตอร์ช่วยผ่าตัด (หุ่นยนต์ผ่าตัด) เฉพาะทางนรีเวช ตั้งแต่ปี 2550 โดยทีมวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นทีมที่ประสบความสำเร็จ และมีงานวิจัยหุ่นยนต์ผ่าตัดที่ก้าวหน้าที่สุด หวังว่าการร่วมมือกัน ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประเทศไทย และ มหาวิทยาลัยคิวชู ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งนับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวไทยต่อไป
อย่างไรก็ตามหนึ่งในชุดผลงานหุ่นยนต์ผ่าตัดทางนรีเวช คือ หุ่นยนต์ช่วยถือและเคลื่อนกล้องผ่าตัด สำหรับการผ่าตัดในอุ้งเชิงกราน ได้รับรางวัลเหรียญทองจาก The international Federation of Inventors’ Associations ในงานวันนักประดิษฐ์นานาชาติครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2551 เทคโนโลยี “หุ่นยนต์ช่วยถือกล้องผ่าตัด” ถูกพัฒนาคิดค้นโดยคณะแพทย์ไทยเพื่อช่วยให้การผ่าตัดทางนรีเวชสะดวก ปลอดภัย มีความถูกต้อง แม่นยำและรวดเร็ว ช่วยให้คนไข้ฟื้นตัวเร็วขึ้น ทำให้พื้นผิวบริเวณที่ผ่าตัดได้รับความกระทบ กระเทือนน้อยที่สุด หุ่นยนต์มีลักษณะเป็นแขนกลช่วยจับกล้องที่ใช้ในการผ่าตัดเคลื่อนไปในมุมต่าง ๆ ตามที่แพทย์ต้องการได้อย่างแม่นยำ โดยแพทย์สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของหุ่นยนต์ผ่านการสัมผัสบนจอทัชสกรีน ช่วยให้การผ่าตัดผ่านกล้องของแพทย์สะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการอบรมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด โดย ศาสตราจารย์ นพ.โกวิท คำพิทักษ์ และรองศาสตราจารย์ นพ.เกรียงศักดิ์ เจนวิถีสุข ร่วมกับศาสตราจารย์จากประเทศญี่ปุ่น เพื่อวางแนวทางรวมทั้งยกระดับวงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ รองรับการเป็นเมดิคอลฮับ ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่อไป