กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการเจรจาความตกลงการค้าเสรี ไทย – ตุรกี ครั้งที่ 5 ณ สาธารณรัฐตุรกี ปลื้ม การเจรจารุดหน้าหลายประเด็น พร้อมเดินหน้าหารือต่อเนื่องในการประชุมรอบเดือนสิงหาคมที่ไทยเป็นเจ้าภาพ คาดว่าจะสามารถสรุปผลได้ในต้นปี 2563 เชื่อมั่น ผลการเจรจาจะทำการค้าสองฝ่ายพุ่งสูงถึง 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยผลการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย – ตุรกี ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 10 – 12 เมษายน 2562 ณ กรุงอังการา สาธารณรัฐตุรกี ว่า การเจรจาคืบหน้าด้วยดี โดยเฉพาะการยกร่างข้อบทความตกลงเรื่องการค้าสินค้า กระบวนการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า มาตรการสุขอนามัย และกระบวนการระงับข้อพิพาททางการค้า เป็นต้น สำหรับการยกร่างข้อบทอื่นๆ อาทิ มาตรการทางเทคนิคที่เป็นอุปสรรคทางการค้า มาตรการเยียวยาทางการค้า และกฎถิ่นกำเนิดสินค้า ได้ทำความเข้าใจแนวปฏิบัติของกันและกัน เพื่อปูทางสำหรับหารือในการประชุมครั้งต่อไปที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นในเดือนสิงหาคมปีนี้ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือเรื่องรูปแบบการเปิดตลาดและแลกเปลี่ยนข้อเสนอรายการสินค้าที่จะลดและยกเลิกการเก็บภาษีระหว่างกัน รวมทั้งแจ้งรายการสินค้าที่ต้องการให้แต่ละฝ่ายเปิดตลาดมากขึ้น โดยไทยแจ้งว่าสนใจที่จะเห็นการเปิดตลาดเพิ่มขึ้นในสินค้าผัก ผลไม้ และเกษตรแปรรูป พลาสติก เคมีภัณฑ์ ยางสังเคราะห์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก การจัดทำเอฟทีเอระหว่างไทย – ตุรกี จะเป็นกลไกสำคัญช่วยให้การค้าสองฝ่ายขยายตัวจาก 1,427.02 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 เป็น 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่ตั้งเป้าว่าการเจรจาน่าจะสรุปผลได้ โดยเอฟทีเอจะช่วยเพิ่มโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากการเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาค โดยตุรกีสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียน และประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป (RCEP) และไทยสามารถใช้ตุรกีซึ่งตั้งอยู่จุดศูนย์กลางระหว่าง 3 ทวีป (ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรป) เป็นประตูขยายการค้าสู่ภูมิภาคเหล่านี้ได้
นางอรมน เสริมว่า ยังได้ใช้โอกาสนี้พบหารือกับภาคเอกชนตุรกีและนักลงทุนไทยในตุรกี ทำให้ทราบว่าตลาดตุรกียังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เพราะเป็นประเทศที่มีประชากรมากถึง 80 ล้านคน และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการกระจายสินค้าสู่ภูมิภาคโดยรอบ โดยภาคเอกชนได้สนับสนุนการเจรจาเอฟทีเอไทย – ตุรกี และหวังว่าการเจรจาจะสามารถหาข้อสรุปได้โดยเร็ว นอกจากนี้ จากการสำรวจตลาดยังพบว่า ตุรกีมีความต้องการทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมของไทย เนื่องจากเห็นว่าเป็นสินค้าที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ทั้งสินค้าอาหาร ผลไม้ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและอุปกรณ์ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ตุรกียังเรียกเก็บภาษีสูงในสินค้าเหล่านี้ จึงเชื่อมั่นว่า ผลของเอฟทีเอจะช่วยให้ตุรกีเปิดตลาดให้กับสินค้าจากไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2561 ตุรกีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 36 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับ 4 ในภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยมีมูลค่าการค้า 1,427.02 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นมูลค่าส่งออกจากไทยไปตุรกี 1,082.22 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่านำเข้าจากตุรกี 344.80 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปตุรกี เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เส้นใยประดิษฐ์ ยางพารา เม็ดพลาสติก เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญจากตุรกี เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รถไฟ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น