กรม สบส.จัดประชุมยกระดับมาตรฐานสถานพยาบาลภาครัฐ มุ่งสร้างสถานพยาบาลคุณภาพที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ จัดประชุมยกระดับมาตรฐานสถานพยาบาลภาครัฐ พร้อมตั้งเป้าปี 2565 สถานพยาบาลภาครัฐทั่วประเทศ มีการประเมินตนเองเข้าสู่มาตรฐานระบบริการสุขภาพครบถ้วน 100 เปอร์เซ็นต์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้รับบริการ และการยอมรับในระดับสากล ชูไทยเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพจากนักเดินทางทั่วโลก

วันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ณ อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรม สบส. มอบหมายให้ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี กรม สบส. เป็นประธานเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการยกระดับมาตรฐานระบบบริการสุขภาพสู่มาตรฐานสากลผ่านสื่อ โดยมีบุคลากรทางด้านสาธารณสุข และทางการแพทย์จากสถานพยาบาลภาครัฐ และหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าร่วมประชุมทั้งออนไซต์และออนไลน์

ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี กรม สบส. ให้สัมภาษณ์ว่า ตามที่ กรม สบส.ได้ขับเคลื่อนการดำเนินการตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ให้สถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งดำเนินการโดยกระทรวง ทบวง กรม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจสถาบันการศึกษาของรัฐ หน่วยงานอื่นของรัฐ สภากาชาดไทย ทั้งประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืนและไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ได้เข้าสู่มาตรฐานตามกฎหมายสถานพยาบาลกำหนด ซึ่ง ณ ปัจจุบัน สถานพยาบาลภาครัฐประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ได้มีการประเมินตนเองเข้าสู่มาตรฐานระบบริการสุขภาพแล้ว จำนวน 273 แห่ง

ดังนั้น ในปี 2565 นี้ เพื่อให้การพัฒนาสถานพยาบาลภาครัฐประเภทรับผู้ป่วยไว้ค้างคืนเป็นไปอย่างก้าวหน้า กรม สบส.จึงจัดการประชุมฯ ในวันนี้ขึ้น โดยเชิญวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งของกรม สบส. สถานพยาบาลภาครัฐ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาลวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานสากล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาร่วมบรรยาย และถอดบทเรียนของสถานพยาบาลรัฐมาตรฐานสากล แก่ผู้บริหาร/ผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาล และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กว่า 100 คน และภายหลังการประชุมฯในวันนี้ ทางกรม สบส.จะนำข้อมูลที่ได้รับมาดำเนินการต่อยอดการพัฒนา และสนับสนุนให้สถานพยาบาลภาครัฐในทุกสังกัดของประเทศไทย ได้มีการประเมินตนเองเข้าสู่มาตรฐานระบบริการสุขภาพ ครบถ้วนทั้ง 1,076 แห่ง

โดยมีกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กองวิศวกรรมการแพทย์ กองแบบแผน กองสุขศึกษา กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ และศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1-12 ช่วยเสริมสร้างมาตรฐานของสถานพยาบาลภาครัฐทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาคให้ได้รับการยอมรับ ความมั่นใจและความน่าเชื่อถือได้ไม่แตกต่างจากคุณภาพมาตรฐานสากล เกิดระบบบริการสุขภาพแบบไร้รอยต่อร่วมกันระหว่างสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชน ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงอย่างปลอดภัย สมประโยชน์ ได้รับการคุ้มครองสิทธิ และได้รับความพึงพอใจ รวมทั้งเพิ่มพูนขีดความสามารถของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางในการให้บริการด้านสุขภาพแก่นักเดินทางทั่วโลก

ทพ.อาคม กล่าวต่อว่า สำหรับ มาตรฐานที่ใช้ในการประเมินตนเองของสถานพยาบาลเพื่อเข้าสู่มาตรฐานระบบบริการนั้น จะแบ่งออกเป็น 9 ด้าน ประกอบด้วย

1.การบริหารจัดการ

2.การบริการสุขภาพ

3.อาคาร สถานที่ และสิ่งอานวยความสะดวก

4.สิ่งแวดล้อม

5.ความปลอดภัย

6.เครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข

7.ระบบสนับสนุนบริการที่สำคัญ

8.ด้านสุขศึกษาและพฤติกรรมสุขภาพ

9.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

โดยผู้ดูแลสถานพยาบาล สามารถประเมินสถานพยาบาลของตนได้ว่ามีมาตรฐานครบถ้วนตามที่กำหนดหรือไม่ ผ่านระบบประเมินมาตรฐานระบบริการสุขภาพ ที่หน้าเว็บไซต์ HTTP://HS4.HSS.MOPH.GO.TH

ซึ่งหากมีข้อสงสัย หรือข้อคำถามในการประเมินสามารถติดต่อสอบถามได้ที่ กลุ่มงานส่งเสริมวิชาการและมาตรฐานภาครัฐ กองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18405 ในวัน เวลาราชการ

***********  3 พฤษภาคม 2565