“ช่วงนี้รายได้ไม่แน่นอน บางวันได้น้อย บางวันแทบไม่ได้เลย คนส่งอาหารเยอะขึ้น แต่กำลังซื้อลูกค้าน้อยลง”
“ทำงานแบบนี้ ไม่มีหลักประกันความปลอดภัย หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นก็ต้องรับผิดชอบตัวเอง เจ็บเอง ก็ต้องจ่ายเอง”
“ชีวิตแขวนอยู่บนความเสี่ยง ออเดอร์ก็ต้องส่ง ต้องทำเวลาให้ทัน อุบัติเหตุก็ต้องระวัง เราใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทั้งหมด ถ้าไม่ทำ ก็ไม่มีกิน”
เสียงสะท้อนความในใจจากกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์มหลากหลายอาชีพ ทั้งไรเดอร์ส่งอาหาร แม่บ้านรับจ้างผ่านแพแอปพลิเคชันออนไลน์ มอเตอร์ไซต์รับจ้าง บนชีวิตที่ต้องสู้กับความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลา ทั้งเรื่องรายได้ ความปลอดภัย และคุณภาพชีวิต ต้องยอมรับว่าธุรกิจแพลตฟอร์มเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนทั่วโลกไปอย่างสิ้นเชิง แต่รู้หรือไม่ว่าธุรกิจเหล่านี้จะขับเคลื่อนไปได้ต้องอาศัยแรงงานนับหมื่นที่ยอมแลกเวลาเพื่อความฝัน เพียงแค่หวังว่าชีวิตจะดีขึ้น มีเงินใช้จ่าย มีรายได้ เลี้ยงดูครอบครัว
“แรงงานแพลตฟอร์ม” คืออะไร หลายคนอาจยังไม่ค่อยคุ้นชิน หรือเคยได้ยินคำนี้มากนัก ในโลกยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีการสื่อสารพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดการจ้างงานผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ กับธุรกิจบริการแทบจะครบทุกประเภทเลยก็ว่าได้ เพียงแค่กดปุ่มสั่งซื้อ กดปุ่มจ่ายเงิน ก็มีคนนำอาหาร หรือสิ่งของ มาส่งให้ถึงหน้าบ้าน ยุ่งแค่ไหน ไม่มีเวลาดูแลบ้าน แค่จ้างงานผ่านออนไลน์ ก็มีแม่บ้านมาให้บริการทำความสะอาดถึงที่ ใช้ชีวิตง่ายแค่ปลายนิ้ว แต่รู้หรือไม่ ว่าแรงงานเหล่านี้ ต้องทำงานอยู่บนความเสี่ยงจากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ที่ไม่อาจคาดคะเนได้เลย
แรงงานแพลตฟอร์ม เป็นกลุ่มแรงงานที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองชัดเจนและยังเข้าไม่ถึงสิทธิบริการด้านสุขภาพอย่างที่ควรจะได้รับ ประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้แรงงานนอกระบบผันตัวมาเป็นแรงงานแพลตฟอร์มมากขึ้น นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ สสส. เห็นถึงความสำคัญของสุขภาวะแรงงานแพลตฟอร์ม จึงได้ร่วมกับกระทรวงแรงงาน และภาคีเครือข่ายผลักดัน ขับเคลื่อนนโยบาย ให้เกิดเป็นหลักประกันทางสังคมและสุขภาพที่เป็นธรรมต่อแรงงานแพลตฟอร์มทุกคน ด้วยการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ อาชีวอนามัย ความปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ เทียบเท่ากับแรงงานในระบบ
นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า สสส. มุ่งเน้นเรื่องสุขภาวะของแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ อย่างที่ทราบดีว่าแรงงานแพลตฟอร์มมีความเสี่ยงจากการทำงานนานัปการ ทั้งความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ความเสี่ยงต่อโรคต่าง ๆ จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่ สสส. อยากให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งความปลอดภัยในการทำงานจะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีมาตรการเข้ามาสนับสนุน
“ในปัจจุบันเมื่อโลกเปลี่ยนไป อาชีพต่าง ๆ ก็เปลี่ยนไปด้วย งานวิชาการชิ้นนี้มีความสำคัญมาก สสส. และกระทรวงแรงงานมีเป้าหมายเดียวกันที่จะทำให้เกิดหลักประกันทางสังคมและทางสุขภาพกับกลุ่มอาชีพนี้ ในส่วนของ สสส. เราพยายามออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย มาตรการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพ ความปลอดภัยต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นกับกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม อย่างน้อยให้เขาได้มีสิทธิพื้นฐาน เข้าถึงบริการสุขภาพและสังคมที่จำเป็นและเพียงพอ เหมาะสมกับกลุ่มอาชีพแรงงานแพลตฟอร์ม อาชีพที่เกิดขึ้นใหม่นี้” นางภรณี กล่าว
ด้าน ผศ.ดร.ธานี ชัยวัฒน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หัวหน้าทีมวิจัย โครงการขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงานแพลตฟอร์ม (Platform Worker) กล่าวว่า “แรงงานแพลตฟอร์มจำนวนมากทำงานอยู่บนความเสี่ยง ได้รับค่าตอบแทนที่ไม่เป็นธรรม ไม่มีกฎหมายคุ้มครองด้านสิทธิและหลักประกันทางสุขภาพ การมีงานวิจัยที่มีน้ำหนักและเชื่อถือได้จะช่วยผลักดันให้สิทธิสวัสดิการด้านต่าง ๆ ที่เป็นธรรมเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำข้อสรุป เพื่อผลักดันให้เกิดนโยบายที่เป็นธรรมกับแรงงานแพลตฟอร์มต่อไป” ผศ.ดร.ธานี กล่าว
จากการศึกษาวิจัยจึงเกิดเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายใน 3 ประเด็นสำคัญ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับแรงงานแพลตฟอร์ม ดังนี้
1.งานที่เป็นธรรม (Fair work) ผลักดันแนวทางการบังคับหรือทำสัญญาที่ชัดเจนระหว่างผู้ประกอบการแพลตฟอร์มกับแรงงานแพลตฟอร์ม
1.1 กำหนดและเผยแพร่เกณฑ์มาตรฐานของงานที่เป็นธรรม
1.2 ส่งเสริมการให้ความรู้ทางการทำงานและการเงิน
2.ผลตอบแทนที่เป็นธรรม (Fair Reward) กำหนดและเผยแพร่เกณฑ์มาตรฐานของค่าจ้างขั้นต่ำที่เป็นกลาง โดยคิดเงินตามหลักสากลเพื่อประกันรายได้
2.1 จัดตั้งกองทุนสวัสดิการคนทำงานแพลตฟอร์ม
2.2 กำหนดให้มีมาตรฐานค่าจ้างขั้นต่ำในรายชั่วโมงเป็นทางเลือกเพิ่มเติมจากการกำหนดรายวัน
2.3 ในระยะยาว ควรมีมาตรการปกป้อง คุ้มครองและดูแลคนทำงานแพลตฟอร์ม
3.การแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) ส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องการทำงานและทำเงิน (Operational and Financial Literacy) กับแรงงานแพลตฟอร์ม เพื่อให้รู้วิธีการออมเตรียมพร้อมรับมือกับความเสี่ยง
3.1 ส่งเสริมธรรมาภิบาลดิจิทัลในการทำงานแพลตฟอร์ม เพื่อให้เกิดความโปร่งใสของข้อมูล
3.2 ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการรายใหม่มีโอกาสเข้ามาแข่งขันในตลาดแพลตฟอร์มอย่างเป็นธรรม
พี่น้องแรงงานทุกคนนับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มศักยภาพ แต่ในขณะเดียวกันแรงงานทุกคนต้องได้รับสิทธิ การคุ้มครอง และหลักประกันทางชีวิตและสังคมที่เป็นธรรมด้วยสสส. และภาคีเครือข่ายมุ่งสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานทุกคนในสังคมไทยอย่างเท่าเทียมกัน ผ่านการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ความปลอดภัย ให้ทุกคนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ และสิทธิสวัสดิการต่าง ๆ ที่กลุ่มแรงงานควรจะได้รับ เพราะเราเชื่อว่า ‘งานจะมีคุณภาพและสร้างรายได้มหาศาลได้นั้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย’