หลัก “9 ประการ เพื่อชีวิตสดใสในวัยสูงอายุ”

สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ  กรมการแพทย์ แนะหลัก “9 ประการ เพื่อชีวิตสดใสในวัยสูงอายุ” เป็นแนวทางให้ร่างกายแข็งแรง  ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุขเหมาะกับวัย

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุโดยเฉพาะกลุ่มโรคเรื้อรัง เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะสมองเสื่อม เป็นต้น เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากพบในผู้สูงอายุและมีจำนวนมากขึ้นตามค่าอายุเฉลี่ยของประชากร ความรุนแรงของปัญหาก่อให้เกิดผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของประเทศและครอบครัว โดยพบอัตราการเกิดโรคในผู้สูงอายุเป็นแบบทวีคูณคือ ร้อยละ 1 – 2  ในประชากรอายุ 60 – 69 ปี ร้อยละ 8 ในประชากรอายุ 70 – 79 ปี และร้อยละ 50 หรือ 1 ใน 2 ของผู้สูงอายุที่อายุ 85 ปีขึ้นไป กรมการแพทย์ จึงมอบหมายสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ ดำเนินโครงการสำคัญระหว่างปี พ.ศ. 2562-2565 เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายผู้สูงอายุสุขภาพดี และพัฒนาระบบดูแลด้านสุขภาพโดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาวะที่ดีของผู้สูงอายุ  ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่กับครอบครัวและสังคมอย่างมีความสุข

นายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กล่าวเพิ่มเติมว่า การมีสุขภาพที่ดีของผู้สูงอายุเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข สามารถประกอบกิจการหรือภารกิจหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับวัย ดังนั้น การมีสุขภาพที่ดีในผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้สูงอายุและบุคคลในครอบครัวต้องการ จึงขอแนะนำข้อปฏิบัติ สำหรับผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดี ตามแนวทางการดูแลสุขภาพตนเอง “9 ประการ เพื่อชีวิตสดใสในวัยสูงอายุ” ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ควรปฏิบัติเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ ประกอบด้วย

1.อาบน้ำทุกวัน แปรงฟันสะอาดอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน เพื่อป้องกันไม่ให้ฟันสึกเหงือกเป็นแผล ตรวจสุขภาพช่องปากอย่างน้อยปีละครั้ง

2.กินอาหารสุกสะอาด วันละ 3 มื้อ ให้ครบ 5 หมู่ ควรกินอาหารที่ย่อยง่าย ลดปริมาณอาหารในแต่ละมื้อลงเพิ่มจำนวนมื้ออาหารให้มากขึ้น

3.ออกกำลังกาย 3 ครั้งต่ออาทิตย์ ครั้งละนิดไม่เกิน 30 นาที โดยเลือกชนิดการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย เช่น การเดิน การวิ่งช้าๆ การบริหารท่าทางต่างๆ การรำมวยจีน โยคะ เป็นต้น

4.ดื่มน้ำสุกสะอาดอย่าให้ขาดวันละ 6-8 แก้ว ซึ่งควรเป็นน้ำที่ปราศจาก สี กลิ่น ตะกอน

5.พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง ปลอดโปร่งแจ่มใส เนื่องจากการนอนเป็นกระบวนการทางธรรมชาติที่ช่วยรักษาสุขภาพให้มีความสมดุล

6.งดสิ่งเสพติด คบหาญาติมิตร ใกล้ชิดครอบครัว เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี เป็นที่พึ่งทางใจให้บุตรหลาน ก่อให้เกิดความสุขอบอุ่นเป็นครอบครัวที่พึงปรารถนา

7. ดูแลบ้านเรือน ของใช้ เสื้อผ้า ให้สะอาด น่าใช้ ไม่เป็นที่แพร่ระบาดและการติดเชื้อโรค

8.ตรวจสุขภาพให้ถ้วนถี่ ปีละครั้งเป็นอย่างน้อย เป็นการสร้างโอกาสที่จะทราบถึงภาวการณ์เปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ เนื่องจากอายุที่เพิ่มขึ้นย่อมมีการเสื่อมของการทำหน้าที่ของระบบในร่างกาย

9. ฝักใฝ่ในธรรม ประกอบกรรมดี อารีต่อทุกคน โดยการบำเพ็ญประโยชน์ต่อครอบครัวชุมชนและสังคม ส่งผลให้ได้รับการยอมรับนับถือจากผู้อื่น ก่อให้เกิดความสุขใจเมื่อนึกถึง เป็นการบ่มกุศลจิตให้เพิ่มพูน อันเป็นหลักยึดถือเป็นที่พึ่งที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงของชีวิต

#สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ #กรมการแพทย์ #การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ