เตือนผู้ปกครอง ช่วงสงกรานต์นี้ดูแลเด็กใกล้ชิด ระวังเด็กจมน้ำ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยเมษายน 61 ที่ผ่านมา มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 84 ราย เฉพาะช่วงสงกรานต์มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 8 ราย แหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากที่สุดคือคลองชลประทานและอ่างเก็บน้ำ ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมาพบสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากครอบครัวกินเลี้ยงสังสรรค์และปล่อยให้เด็กเล่นน้ำกันเอง แนะสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำต้องกำหนดให้มีพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ให้เด็กยืนใกล้ขอบบ่อหรือสระ เพื่อตักน้ำเล่นสงกรานต์เพราะอาจลื่นและพลัดตกลงน้ำได้

วันที่ 12 เมษายน 2562 นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในเดือนเมษายนซึ่งตรงกับช่วงที่อากาศร้อนและเป็นช่วงปิดเทอม พบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุดเช่นเดียวกัน จากข้อมูลของกองยุทธศาสตร์และแผนงาน สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เดือนเมษายน 2561 ที่ผ่านมา พบว่ามีเด็ก(อายุต่ำกว่า 15 ปี) จมน้ำเสียชีวิต 84 ราย  โดยช่วงเทศกาลสงกรานต์ 3 วัน (13-15 เมษายน) ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (ปี 2552-2561) พบว่ามีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 160 ราย เฉลี่ยวันละ 5 ราย มากกว่าช่วงวันปกติ 2 เท่าตัว โดยในวันที่ 14 เมษายน พบว่ามีการเกิดเหตุจมน้ำเสียชีวิตสูงที่สุด เฉลี่ย 6 ราย

จากข้อมูลในปี 2561 ที่ผ่านมา พบว่าช่วงสงกรานต์เพียง 3 วัน มีเด็กจมน้ำเสียชีวิต 8 ราย ในจำนวนนี้เป็นเพศชาย 5 ราย อายุ 5-9 ปี มากที่สุด (5 คน) แหล่งน้ำที่เกิดเหตุมากที่สุดคือคลองชลประทานและอ่างเก็บน้ำ และพบว่าวันที่ 15 เมษายน เป็นวันที่มีเด็กจมน้ำสูงที่สุด ในวันเดียวถึง 5 คน  ส่วนเหตุการณ์ที่มักพบบ่อยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา  คือ ครอบครัวจะกินเลี้ยงสังสรรค์และปล่อยให้เด็กเล่นน้ำสนุกสนานกันเอง หรือเด็กๆ แอบหนีผู้ปกครองไปเล่นน้ำบริเวณแหล่งน้ำต่างๆ เด็กไม่มีความรู้เรื่องความปลอดภัยทางน้ำ ไม่มีทักษะการเอาชีวิตรอดเมื่อตกลงไปในน้ำ ว่ายน้ำไม่เป็นและไม่ใช้อุปกรณ์ในการช่วยพยุงตัวในน้ำขณะเล่นน้ำหรือทำกิจกรรมทางน้ำ รวมถึงไม่รู้วิธีการช่วยเหลือคนตกน้ำ จมน้ำที่ถูกต้อง ทำให้จมน้ำเสียชีวิต

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำประชาชนในการเล่นน้ำให้ปลอดภัยช่วงสงกรานต์ ดังนี้ 1.พ่อแม่ ผู้ปกครองดูแลเด็กใกล้ชิด ไม่ให้เด็กยืนใกล้บริเวณขอบบ่อ/สระ เพื่อตักน้ำเล่นสงกรานต์เพราะอาจพลัดตก ลื่นลงน้ำได้  2.การเล่นน้ำให้นำขวดน้ำพลาสติกเปล่า 1.5 ลิตร หรือแกลลอนพลาสติกเปล่า ปิดฝา ใช้สะพายแล่งติดตัวไปด้วย หากหมดแรงให้นำมากอดแนบหน้าอกและลอยตัวไว้  3.ชุมชนร่วมกันสำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในพื้นที่ และจัดการให้เกิดความปลอดภัย โดยให้มีการสร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำ เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่าผูกเชือก ไม้ และนกหวีด  4.แหล่งน้ำที่จัดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว เช่น น้ำตก ทะเล อ่างเก็บน้ำ สวนน้ำ เป็นต้น ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแล มีเสื้อชูชีพให้สวมใส่ทุกครั้งที่เดินทางหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กำหนดพื้นที่เล่นน้ำที่ปลอดภัย มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต เข้าถึงได้ง่าย ติดป้ายแจ้งเตือน และป้ายบอกความลึกของน้ำ  5.สระว่ายน้ำ ต้องมีเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอต่อผู้รับบริการ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิต ป้ายบอกความลึกของน้ำ ป้ายบอกกฎระเบียบความปลอดภัยทางน้ำ และมีรั้วล้อมรอบสระว่ายน้ำทั้ง 4 ด้าน  6.ใช้หลัก “ตะโกน โยน ยื่น” เพื่อช่วยเหลือคนตกน้ำ ได้แก่ 1.ตะโกนเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์กู้ชีพ 1669  2.โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำ เช่น เชือก ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น  3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422