ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2562 เวลา 17.45 น.ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้น 8 ภายในศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ใกล้เคียงกับโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวน 3 ราย และได้รับบาดเจ็บ จำนวน 20 คน จึงได้สั่งการให้สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ ลงพื้นที่เพื่อติดตามและประสานงานอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ความช่วยเหลือด้านประกันภัยอย่างทันท่วงที
ในการนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ตรวจสอบข้อมูล พบว่า ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ได้ทำประกันภัยซึ่งให้คุ้มครองความเสี่ยงภัยทุกประเภท (Industrial All Risk Insurance) ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก (Business Interruption Insurance) รวมถึงความรับผิดชอบต่อสาธารณะ (Public Liability Insurance) เริ่มต้นความคุ้มครองเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2562 และสิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 31 มีนาคม 2563 ได้แก่ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน เลขที่ 001-OIAR19-000815 จำนวนเงินเอาประกันภัย 15,516,500,000 บาท กรมธรรม์ประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก เลขที่ 001-OBII19-000069 จำนวนเงินเอาประกันภัย 11,325,000,000 บาท และกรมธรรม์ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก เลขที่ 001-OPLL19-000096 จำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับการบาดเจ็บต่อร่างกายหรือเสียชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกภายในวงเงินจำกัดความรับผิดไม่เกิน 100,000,000 บาท ต่ออุบัติเหตุแต่ละครั้งและตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย ไว้กับบริษัทประกันภัยร่วม (Co-Insurers) จำนวน 5 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 45% บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด(มหาชน) สัดส่วน 25 % บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 20% บริษัทกรุงเทพประกันภัยจำกัด (มหาชน) สัดส่วน 5% และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 5%
สำหรับในส่วนของโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ และบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ได้ทำประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน กรมธรรม์เลขที่ 0688068433 เริ่มต้นความคุ้มครองเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และสิ้นสุดความคุ้มครองวันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวนเงินเอาประกันภัย 6,294,974,214 บาท เป็นความคุ้มครองการประกันภัยทรัพย์สิน จำนวนเงินเอาประกันภัย 4,449,020,730 บาท และการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงักจำนวนเงินเอาประกันภัย 1,845,953,484 บาท ไว้กับบริษัทประกันภัยร่วม (Co-Insurers) จำนวน 7 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท นิวแฮมพ์เชอร์ อินชัวรันส์ สัดส่วน 28% บริษัท เจนเนอราลี่ ประกันภัย (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 24% บริษัทประกันคุ้มภัยจำกัด (มหาชน) สัดส่วน 17% บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 15% บริษัทอาคเนย์ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 8% บริษัท เอฟพีจี ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 5% และบริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) สัดส่วน 3%
ทั้งนี้ ได้สั่งการให้สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระประสานบริษัทประกันภัยเร่งลงพื้นที่สรุปความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อจะได้ดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนด้วยความรวดเร็ว ถูกต้องและเป็นธรรม รวมทั้งเข้าเยี่ยมครอบครัวผู้เสียชีวิตเพื่อแสดงความเสียใจ นอกจากนี้ ยังได้ประสานกับบริษัทประกันภัยเพื่อตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีการทำประกันภัยไว้ จะเร่งดำเนินการให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยเร็วต่อไป
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้ได้รับความเสียหายในครั้งนี้ และจะช่วยอำนวยความสะดวกด้านการประกันภัยและประสานความช่วยเหลือด้านค่าสินไหมทดแทนอย่างเต็มที่ อุบัติเหตุและอุบัติภัยสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา โดยที่เราไม่คาดคิด และเมื่อเกิดขึ้นแล้วอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ดังนั้น ไม่ควรประมาทและมองข้ามความสำคัญของการทำประกันภัยที่เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุด ที่สามารถช่วยแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของท่านได้ ซึ่งประชาชนและผู้ประกอบการต่างๆสามารถเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ตามความเหมาะสมกับสภาพความเสี่ยงของตนเอง อย่างไรก็ตาม ขอให้พิจารณาจากสถานที่ตั้ง และลักษณะการใช้อาคารของผู้เอาประกันภัย รวมทั้งความสามารถในการชำระเบี้ยประกันภัยด้วย ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยด้านการประกันภัย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย