กรมควบคุมโรค มอบหมายให้ สคร.2 พิษณุโลก ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ สอบสวนควบคุมโรคอย่างเข้มข้น กรณีพบผู้ป่วยสงสัยโรคไข้หูดับ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ได้มอบหมายให้ สคร.2 พิษณุโลก ส่งทีม JIT ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในจังหวัดอุตรดิตถ์  เพื่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคอย่างเข้มข้น กรณีพบผู้ป่วยสงสัยโรคไข้หูดับเป็นกลุ่มก้อน  พร้อมทั้งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ

วันที่ (11 เมษายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงกรณีที่พบผู้ป่วยสงสัยโรคไข้หูดับเป็นกลุ่มก้อนในจังหวัดอุตรดิตถ์ นั้น  กรมควบคุมโรค ขอให้ข้อมูลว่า จากรายงานการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดในหน่วยฝึกทหารใหม่ โดยก่อนเข้ารับการรักษาผู้ป่วยสงสัยโรคไข้หูดับมีประวัติกินหมูจุ่มร่วมกับเพื่อนทหารจำนวนหนึ่ง ซึ่งไปหาซื้อมาทำกินกันเอง ไม่ใช่อาหารของที่ค่ายจัดให้ โดยซื้อหมูมาจากตลาด 2 แห่ง  ขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค ที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก (สคร.2 พิษณุโลก) ส่งทีมปฏิบัติการสอบสวนควบคุมโรค (JIT) เมื่อมีเหตุโรคและภัยสุขภาพ ลงพื้นที่ร่วมกับโรงพยาบาลค่ายพระยาพิชัยดาบหัก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุตรดิตถ์ และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องแล้ว รวมถึงการดูแลสุขภาพของประชาชนและทหาร พร้อมทั้งสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้หลีกเลี่ยงการกินหมูดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เพราะเสี่ยงป่วยโรคไข้หูดับได้

โรคไข้หูดับ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส (Streptococcus suis) สามารถติดต่อได้ 2 ทาง คือ 1.การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ รวมทั้งเนื้อหมู เครื่องในและเลือดหมูที่เป็นโรค โดยติดต่อสู่คนทางบาดแผล รอยขีดข่วนตามร่างกายหรือทางเยื่อบุตา 2.เกิดจากการบริโภคเนื้อหมู หรือเลือดหมูที่ปรุงดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ ที่มีเชื้ออยู่ โดยผู้ป่วยจะมีอาการหลังรับประทาน 3-5 วัน  จะมีอาการไข้สูง  ปวดศีรษะอย่างรุนแรง  เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน คอแข็ง หูหนวก ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ขอให้รีบพบแพทย์ทันที และบอกประวัติการกินหมูดิบให้ทราบ เพราะหากมาพบแพทย์และวินิจฉัยได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการหูหนวกและการเสียชีวิตได้

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า กรมควบคุมโรค ขอแนะนำวิธีการป้องกันโรค ดังนี้ 1.กินหมูสุกเท่านั้น   โดยปรุงเนื้อหมูให้สุกทั่วถึงจนเนื้อไม่มีสีแดง ไม่เติมหรือใส่เลือดดิบในอาหาร ควรเลือกซื้อเนื้อหมูที่ไม่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์  2.ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค โดยเฉพาะผู้เลี้ยงหมู ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ ผู้ที่ชำแหละเนื้อหมู สัตวบาล สัตวแพทย์ ควรสวมรองเท้า บู๊ทยาง สวมถุงมือ รวมถึงสวมเสื้อที่รัดกุมระหว่างทำงาน หากมีบาดแผลต้องปิดแผลให้มิดชิด และล้างมือหลังสัมผัสกับหมูทุกครั้ง

ในโอกาสเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ขอให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจมีการจัดเลี้ยงหรือทำอาหารกินเองในครอบครัว โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ชำแหละกันเองในชุมชน แล้วนำมากินดิบ หรือสุกๆ ดิบๆ เช่น ลาบ  หลู้หมูดิบ ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่มีการใส่เลือดหมูดิบผสม หรือการปิ้งย่างไม่สุก เสี่ยงติดเชื้อโรคไข้หูดับ และอาจทำให้หูหนวกถาวรหรือเสียชีวิตได้  สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422

 

*********************************

ข้อมูลจาก : สคร.2 พิษณุโลก / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค