กระทรวงสาธารณสุข จับมือสถาบันการเงิน เพิ่มดัชนีความสุขมิติสุขภาพเงินดีให้บุคลากรทั่วประเทศ ด้วยแผนงานสร้างเสริมสุขภาพทางการเงิน 5 โครงการใหญ่ ช่วยบุคลากรประหยัดค่าใช้จ่ายรวม 2,123 ล้านบาท/ปี
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการประเมินดัชนีความสุขของคนทำงาน (Happinometer) ของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขรายบุคคล เพื่อประเมินความสุขของคนทำงาน มาใช้ในการพัฒนาองค์กร โดยสำรวจจากบุคลากร 298,793 คน จากทั้งหมด 421,342 คน ใน 9 มิติ ได้แก่ด้านสุขภาพดี ผ่อนคลายดี น้ำใจดี จิตวิญญาณดี ครอบครัวดี สังคมดี ใฝ่รู้ดี สุขภาพเงินดี และการงานดี
โดยในส่วนมิติสุขภาพเงินดี ได้ค่าคะแนนเพียงร้อยละ 50.7 ค่อนข้างต่ำกว่าค่าคะแนนความสุขในมิติอื่นๆ ปัจจัยที่ทำให้ค่าความสุขน้อยจากภาระหนี้สิน จึงได้จัดทำแบบสำรวจสุขภาพทางการเงิน (Happy Money) บุคลากร 97,567 คน พบว่าร้อยละ 55.5 เป็นหนี้สหกรณ์ รองลงมาร้อยละ 22.2 เป็นหนี้บัตรเครดิต นอกระบบ สถาบันการเงิน และร้อยละ 21.5 หนี้กู้ซื้อบ้าน ดังนั้น เพื่อสร้างขวัญกำลังใจต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรตามเป้าหมาย “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน” การดูแลความเป็นอยู่ และแก้ไขปัญหาภาระหนี้สิน จะช่วยส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพการปฏิบัติงาน จึงได้จัดทำ“แผนสร้างเสริมสุขภาพทางการเงิน (Happy Money Program)”ประกอบด้วย 5 โครงการสำคัญ ดังนี้ 1.ความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข : Happy Home เพื่อ Refinance และ ซื้อบ้าน แก้ไขปัญหาหนี้สินด้านที่อยู่อาศัย บริหารจัดการชำระหนี้สินของตนเองได้อย่างเหมาะสม ตามความสามารถที่แท้จริง
2.คลินิกสุขภาพทางการเงิน : Happy Money Clinic เพื่อปรับโครงสร้างสถานะการเงิน ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย สามารถบริหารจัดการชำระหนี้สินของตนเองได้อย่างเหมาะสมตามความสามารถที่แท้จริง ควบคู่กับการเสริมสร้างวินัยทางการเงิน 3.การส่งเสริมการออม : Happy Saving เพื่อสร้างทัศนคติที่ดีทางการออม ให้มีเป้าหมายทางการเงิน วางแผนออมเงิน และจัดสรรเงินออม 4.การประนอมหนี้สิน : Happy Redeeming การประนอมหนี้สินจากสถาบันการเงินทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการล้มละลาย5.สวัสดิการอื่นๆ : Happy Welfares ได้แก่ Happy Communication โครงการประกันภัยรถ
คาดว่า บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายรวม 2,123 ล้านบาท/ปีคือ ลดค่าใช้จ่ายหนี้สินซื้อบ้านและบ้านหลังใหม่ 687 ล้านบาท/ปี ลดค่าใช้จ่ายในการประนอมหนี้สิน 1,123 ล้านบาท/ปีลดค่าใช้จ่ายประกันรถยนต์ 120 ล้านบาท/ปี ลดค่าใช้จ่ายด้านการสื่อสาร 192 ล้านบาท/ปี